เทศบาลนครเชียงรายร่วมอนุรักษ์ประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ด
เชิญชวนคณะศรัทธาชาวเชียงรายร่วมทำบุญเสริมมงคลชีวิต
เทศบาลนครเชียงราย จัดงานประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ด ฟื้นฟูวัฒนธรรมชาวล้านนา ประชาสัมพันธ์เชิญชาวพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดเชียงรายร่วมทำบุญเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ระหว่างวันที่ 18 – 19 มกราคม 2554 ณ วัดมิ่งเมือง อ.เมือง จ.เชียงราย
นายสมพงษ์ กูลวงค์ นายกเทศมนตรีนครเชียงราย เปิดเผยว่า ในอดีตเมื่อใกล้เข้าเวลาประมาณเที่ยงคืนที่ย่างเข้าสู่วันพุธคืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ จะมีประชาชนจำนวนมาก มาร่วมทำบุญ ตักบาตรพระภิกษุสงฆ์สามเณร เรียกวันดังกล่าวว่า “วันเป็งปุ๊ด”โดยมีประวัติความเป็นมาสืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า พระมหาอุปคุตเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งที่มีมหาอิทธิฤทธิ์ สามารถ ดลบันดาลโชคลาภวาสนา ได้ออกจากการเข้าฌานสมาบัติใต้สะดือทะเล แล้วแปลงกายเป็น สามเณรน้อยออกมาโปรดสัตว์โลก เชื่อกันว่าหากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรพระมหาอุปคุต บุคคลนั้นถือว่าเป็นผู้มีบุญ จะมีโชคลาภวาสนาร่ำรวย และบังเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ซึ่งประเพณีการตักบาตรเป็งปุ๊ดถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาช้านานแต่คนรุ่นใหม่หลายคนเริ่มละเลยประเพณีดังกล่าวจนถูกหลงลืมไปกับความทันสมัย ดังนั้นเทศบาลนครเชียงรายได้ฟื้นฟูประเพณีการตักบาตรในคืนวันเป็งปุ๊ดให้เป็นที่รู้จัก และในปีนี้มีความพิเศษที่มีคืนเดือนเพ็ญวันพุธตรงกับวันที่ 19 มกราคม 2554 ซึ่งอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยสร้างเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับทุกคน โดยมีรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
วันที่ 18 มกราคม 2554
เวลา 15.30 น.-17.00 น. เริ่มทำพิธีอาราธนาพระอุปคุต จากแม่น้ำกก(เชิงสะพานแม่ฟ้าหลวง)ขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบก อัญเชิญเข้าขบวน แห่รอบเมืองเชียงราย
เวลา 23.00 น.ประกอบพิธีทางศาสนา พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ปาฐกถาธรรมเรื่องประวัติพระมหาอุปคุต
เวลา 00.01 น.(ขึ้น 15 ค่ำ วันเป็งปุ๊ด) เข้าสู่วันที่ 19 มกราคม 2554 อาราธนาพระอุปคุตและพระภิกษุสงฆ์สามเณรออกเดินรับบิณฑบาต เริ่มจากวัดมิ่งเมืองบนถนนบรรพปราการ ตรงไปผ่านสี่แยกสะพานดำ ผ่านสี่แยกหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติฯ ไปจนถึงสี่แยกประตูสลีเลี้ยวกลับเส้นทางเดิมจนถึงวัดมิ่งเมือง เป็นอันเสร็จพิธี
ดังนั้น เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เทศบาลนครเชียงราย ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวเชียงราย ร่วมทำบุญตามวัน เวลา และสถานที่ดังกล่าว พร้อมกันนี้เชิญชวนทุกท่านแต่งกายด้วยชุดขาวเพื่อร่วมอนุรักษ์ขนมธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาวล้านนาต่อไป
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่กระทู้นี้
http://www.chiangraifocus.com/forums/index.php?topic=60481
|