สาธารณสุขเตือน 3 กลุ่มเสี่ยงให้ระวังเจ็บป่วยด้วยโรคที่มากับความหนาว ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาทิ โรคหอบหืด เบาหวาน หัวใจ โรคหลอดเลือด โรคปอดเรื้อรัง ตับแข็ง โรคไตและโลหิตจาง ต้องเตรียมยารักษาโรคที่จำเป็นให้พร้อม เนื่องจากหากเจ็บป่วยจะมีอาการรุนแรงกว่าคนปกติ เตือน 5 สิ่งไม่ควรทำ ได้แก่ ไม่ดื่มสุราเพื่อคลายหนาว ไม่นอนในที่โล่งแจ้งมีลมโกรก ไม่ผิงไฟในที่อับ ไม่นำเด็กเล็กและผู้ป่วยหอบหืดเข้าใกล้กองไฟ และไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในฤดูหนาว หากร่างกายปรับสภาพไม่ทันอาจเจ็บป่วยได้ โรคที่เกิดในฤดูหนาวที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส โรคมือ เท้า ปาก และอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก รวมถึงโรคที่เกิดจากสภาพอากาศแห้ง เช่น โรคผิวหนัง และการเสียชีวิตของผู้สูงอายุจากภัยหนาว โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย 3 กลุ่มจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากภูมิต้านทานต่ำกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด หอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคไตและโรคโลหิตจาง ให้เตรียมยารักษาโรคเรื้อรังที่จำเป็น และไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อป้องกันการขาดยา เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้เมื่อเจ็บป่วยอาการจะรุนแรงกว่าคนปกติทั่วไป
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันเพื่อไม่ให้เจ็บป่วยขอให้ประชาชนปฏิบัติดังนี้ รักษาร่างกายให้อบอุ่นโดยสวมเสื้อผ้าหนาๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และให้พลังงาน ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆอย่างน้อยวันละ 1 ลิตรเพื่อช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น ไม่แตกง่าย ทาโลชั่นหรือน้ำมันมะพร้าวป้องกันผิวแตกและรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง
นอกจากนี้ขอเตือน 5 สิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะจะทำให้ร่างกายอ่อนแอและเสี่ยงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ได้แก่ ไม่ดื่มสุราเพื่อคลายหนาว ซึ่งนอกจากไม่ช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายแล้ว ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนและกดประสาท ทำให้ง่วงซึมและหมดสติโดยไม่รู้ตัว หากมีโรคประจำตัวเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ไม่ผิงไฟหรือจุดเทียนไขในเต็นท์ เนื่องจากจะทำให้ร่างกายได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เข้าสู่ร่างกายหรือเกิดไฟไหม้ ไม่ควรนอนในที่โล่งมีลมโกรกโดยไม่มีเครื่องป้องกันความหนาว ไม่นำเด็กเล็กเข้าไปใกล้บริเวณที่ก่อไฟเพราะควันไฟจะระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจทำให้เป็นหวัดได้ง่าย ไม่ห่มผ้าคลุมศีรษะ ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ หากเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่ ต้องปิดจมูกด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษเช็ดหน้า หากไอ จาม น้ำมูกไหล ล้างมือบ่อยๆ และสวมหน้ากากอนามัยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายสู่คนอื่น
งานข้อมูลข่าวสารสาธารณสุข 30/2557 ********************** 27 ธันวาคม 2556 |