ในกรณีรายงานข่าวจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ที่อ้างว่า ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามการแสดงซองบุหรี่ที่จุดขายแต่ร้านค้าจำนวนมากรวมถึงร้านสะดวกซื้อยังมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การรายงานข่าวนี้มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและทำให้เกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มร้านค้าเป็นอย่างมาก สมาคมการค้ายาสูบไทยจึงขอชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องดังต่อไปนี้
· ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายห้ามการแสดงซองบุหรี่ ณ จุดขาย
· ในปี 2549 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ. 690/2549 ระบุว่าการนำบุหรี่ซิกาแรตออกแสดงเพื่อขายในสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเพื่อขายตามปกติ สามารถทำได้เพราะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายและใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง และมิได้ถือว่าเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบแต่อย่างใด
· ในปี 2555 กระทรวงสาธารณสุขได้ยกร่าง พระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ. ... ซึ่งในมาตรา 38 ระบุว่า ห้ามผู้ใดแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ สถานที่ขายปลีก กรณีที่ผู้ขายปลีกผลิตภัณฑ์ยาสูบต้องการแสดงชื่อ หรือราคาของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการอำนวยการผู้ขายปลีกผลิตภัณฑ์ยาสูบ ต้องแสดงสื่อรณรงค์เพื่อการลด ละ เลิกการบริโภคยาสูบ ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการอำนวยการ
· ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังไม่มีกฎหมายห้ามแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ สถานที่ขายปลีกในปัจจุบัน ตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด ในขณะที่ร่างกฎหมายดังกล่าวถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและขัดกับกฎหมายอื่นด้วย
นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวว่า “การกล่าวหาว่าร้านค้าฝ่าฝืนกฎหมายอย่างผิดๆ นั้นเป็นการกลั่นแกล้งให้ร้านค้าซึ่งทำมาค้าขายอย่างสุจริตต้องตกเป็นจำเลยสังคม และถูกจับปรับอย่างไม่เป็นธรรม อีกทั้งยังสร้างความสับสนให้ร้านค้าและให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทั้งๆ ที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายนั้นได้มีบทบัญญัตินิยามของคำว่าโฆษณาไว้เฉพาะ และการวางบุหรี่เพื่อขายเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายและใบอนุญาต จึงไม่ใช่เป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบแต่อย่างใด”
“สมาคมการค้ายาสูบไทยขอยืนยันจุดยืนว่า สมาคมฯ สนับสนุนการป้องกันเยาวชนต่อการสูบบุหรี่ แต่การป้องกันที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของการให้ความรู้ และการดูแลจากหลายภาคส่วน เช่น ครอบครัว และ สถาบันการศึกษา การกล่าวอ้างว่าร้านค้าทำผิดกฎหมายไม่สามารถป้องกันเยาวชนจากการสูบบุหรี่ได้ นอกจากนั้น กฎหมายที่มีประสิทธิภาพควรมาจากหลักฐานที่ดีมิใช่แต่เพียงการคาดการณ์หรือความเชื่อเท่านั้น การจะออกกฎหมายใดควรคำนึงถึงผลกระทบจากทุกฝ่าย และต้องพิจารณาถึงตัวแปรอื่นๆ ไม่ใช่จ้องแต่ออกกฎหมายควบคุมยาสูบแบบสุดซอย มิเช่นนั้นกฎหมายนั้นอาจจะส่งผลเสียอย่างคาดไม่ถึง อีกทั้งไม่ได้ช่วยให้อัตราการบริโภคยาสูบโดยรวมในประเทศลดลงตามวัตุประสงค์ของกฎหมายนั้นแต่อย่างใด” นางวราภรณ์ กล่าวสรุป |