สาธารณสุข ให้สถานบริการทุกแห่ง เฝ้าระวังโรคมือเท้าปากในเด็กเล็ก เด็กวัยอนุบาล โดยเฉพาะครูและพี่เลี้ยงเด็ก ในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล ตรวจเด็กก่อนเข้าห้องเรียนทุกวัน หากพบเด็กมีไข้ มีตุ่มใสขึ้นในปากหรือบริเวณมือ เท้า สงสัยโรคมือเท้าปาก แยกเด็กไม่ให้คลุกคลีกับเด็กปกติ แจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบทันที แนะทำความสะอาดสถานที่และของเด็กเล่นทุกวัน เผยปีที่ผ่านมาเชียงราย พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก 2,970 ราย ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จากกรณีพบเด็กอายุ 3 ปี 7 เดือน นักเรียนโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในเขตคลองเตย กทม.ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมือเท้าปากเมื่อ 7 มกราคม 2557 และยังพบเด็กในโรงเรียนเดียวกันป่วยเพิ่มนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายและกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ และประสานโรงพยาบาลเอกชน เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยโรคมือเท้าปาก หากพบให้ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าควบคุมโรคและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ให้ประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนให้ผู้บริหารโรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก เนิร์สเซอรี่ทุกแห่ง ดูแลทำความสะอาดห้องเรียน ห้องน้ำ ของเด็กเล่น เครื่องใช้ต่างๆ และให้ครูพี่เลี้ยงตรวจเด็กทุกเช้า หากพบเด็กมีไข้ มีตุ่มใสขึ้นในปากหรือบริเวณมือและเท้า ให้สงสัยไว้ก่อน แยกเด็กไม่ให้คลุกคลีกับเด็กปกติ และแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทราบ
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า สถานการณ์โรคมือเท้าปาก ตั้งแต่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2556 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก 2,970 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต โดยพบผู้ป่วยในทุกอำเภอ มากสุดพบในกลุ่มอายุ 0-4 ปี และพบในช่วงฤดูฝนและหนาว เนื่องจากสภาพอากาศเย็นเชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้ดี ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายได้เอง นอกจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ซึ่งทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้บ่อยคือ ก้านสมองอักเสบ การทำงานของหัวใจผิดปกติ และอาจเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว
โรคมือ เท้า ปาก มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสลำไส้หรือเอนเทอโรไวรัส ส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสค็อกซากี่-เอ ไม่ทำให้เสียชีวิต หลังจากติดเชื้อ 3-6 วัน ผู้ที่ได้รับเชื้อจะเริ่มมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัวประมาณ 1-2 วัน จะเริ่มเจ็บปาก ไม่กินอาหาร เพราะมีตุ่มแดงที่เหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้ม และจะกลายเป็นตุ่มพองใส รอบแผลจะอักเสบแดง ต่อมาตุ่มจะแตกเป็นแผลหลุมตื้น โดยจะพบตุ่มหรือผื่นขึ้นที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า อาจพบที่ก้น แขน ขาและอวัยวะสืบพันธุ์ด้วย อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน 7-10 วัน และทิ้งรอยแผลเป็นให้เห็น โรคนี้ป้องกันได้โดยการรักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารหรือจับสิ่งของเข้าปาก และหลังการขับถ่าย ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ของเด็กเล่น
งานข้อมูลข่าวสารสาธารณสุข 34/2557 ********************** 17 มกราคม 2557 |