เตือน เชียงราย เสี่ยงหลุดขบวน หลังเปิดเออีซี-สะพานข้ามโขง 4 |
|
ประกาศเมื่อ
29 มกราคม 2014 เวลา 11:01:33 เปิดอ่าน
1324 ครั้ง |
|
|
วันที่ 28 ม.ค.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสัมมนาเชิงวิชาการด้านการจัดการลอจิสติกส์ และซัปพลายเชน เรื่อง “การเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว กับผลกระทบที่มีต่อไทย โดยเฉพาะ จ.เชียงราย” ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจัดขึ้นนั้น ได้มีการเสวนาเรื่องระเบียบกฎเกณฑ์การขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว
นายเฉลิมพล พงษ์ฉบับนภา พาณิชย์จังหวัดเชียงราย ผู้ร่วมเวทีเสวนา กล่าวว่า หลังสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 เชื่อมไทย-ลาว-จีน ผ่านถนน R3a ใน สปป.ลาว เปิดใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2556 หรือ 11-12-13 ทำให้ช่องทางการค้า การลงทุนชายแดนเชียงรายเปิดกว้างขึ้น มีกลุ่มทุนทั้งจีน เกาหลีใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย พยายามจะเข้ามาลงทุนมากมาย
ที่ผ่านมามีกลุ่มทุนใช้ช่องทางนี้ในการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-จีนมากขึ้น มีการนำเนื้อกระบือแช่แข็งจากอินเดีย หรือไก่แช่แข็งจากต่างประเทศเข้ามาทางท่าเรือแหลมฉบัง ส่งผ่านท่าเรือเชียงแสนเข้าสู่ตลาดจีน เป็นต้น จึงอยากให้ผู้ประกอบการทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติร่วมลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านทั้งพม่า สปป.ลาว และจีนตอนใต้ให้มากขึ้น
ทั้งนี้ เพราะเมื่อมองจากกลุ่มทุนต่างประเทศ จะพบว่าเขาพยายามจะหาโอกาสเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง เช่น ทุนจีนลงทุนปลูกยางพาราที่ อ.พญาเม็งราย และกำลังขออนุมัติการส่งเสริมการลงทุนตั้งโรงงานแปรรูป รวมทั้งลงทุนด้านยางพารา ปลูกแตงโม ใน สปป.ลาว เพื่อส่งกลับไปยังจีนตอนใต้ ซึ่งตนเกรงว่าหากเราออกตัวช้าไปจะเสียโอกาส
ขณะที่ รศ.ดร.อภิชาต โสภาแดง จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวระหว่างร่วมเวทีเสวนาเรื่องทิศทางการค้าชายแดนกับการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ว่าการค้าชายแดนด้าน จ.เชียงรายมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นทุกด่านเฉลี่ย 13% และถ้ามีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) คาดว่ามูลค่าการค้าจะเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 15% ซึ่งดึงดูดให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน
ดังนั้น เชียงรายควรใช้กรณีศึกษาจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรเลยนอกจากน้ำ สามารถพัฒนาเป็นผู้ผลิตชิปหรือไอซีเพื่อการส่งออกเมื่อ 10-20 ปีก่อน กระทั่งปัจจุบันสิงคโปร์เปลี่ยนเป็นประเทศวิจัยและการพัฒนา โดยมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ออกไปลงทุนขนานใหญ่
รศ.ดร.อภิชาตกล่าวว่า เชียงรายควรจัดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นการขนส่ง และการโดยสารจะผ่าน จ.เชียงรายไปหมด เพราะจากการศึกษาพบว่า เมื่อมีการเปิดคมนาคมไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ผ่านสะพานน้ำโขงอย่างเต็มที่ พื้นที่ซึ่งจะได้ประโยชน์คือ จ.ลำพูน เพราะมีนิคมอุตสาหกรรม รองลงมาคือ เชียงใหม่ จากนั้นก็เป็นท่าเรือแหลมฉบัง และกรุงเทพฯ หากนิ่งอยู่โดยไม่มีกิจกรรม ทุนใหญ่ก็จะเข้ามาล้วงลูก และลงทุนหมดทุกอย่าง จะทำให้เขียงรายเสียโอกาส
ด้านนายเกรียงไกร วีระฤทธิพันธ์ ประธานสภาอุตสหากรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ผู้ประกอบการท้องถิ่นขยายการลงทุนในพื้นที่ยาก เพราะมีปัญหาใหญ่คือ ผังเมืองเชียงรายระบุว่ามีพื้นที่ทางการเกษตรกว้างขวางมาก ถ้าจะลงทุนด้านอุตสาหกรรมเพื่อขอใบ รง.4 ก็จะถูกชี้ให้ไปลงทุนในเขต อ.เทิง เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ อ.เชียงของ 5,000-6,000 ไร่ ซึ่งการที่จะตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราเพื่อส่งออกไปจีน แทนการส่งน้ำยางไปแปรรูปที่ภาคตะวันออกหรือภาคใต้ แล้วค่อยขนกลับมาส่งออกที่เชียงรายก็ติดปัญหานี้เช่นกัน หากภาครัฐไม่ปรับโครงสร้างการบริหาร และเปิดการค้าเสรีมากขึ้น ทุนท้องถิ่นก็จะยิ่งอ่อนแอลงอีก
ด้าน ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-ลาว ที่ อ.เชียงของ ว่า เกี่ยวข้องกับระเบียบระหว่างประเทศมากมาย เช่น กรณีข้อตกลงอาเซียน จีเอ็มเอส องค์การการค้าโลก พบว่ามีข้อตกลงร่วมกันกว่า 25 ข้อ ส่วนข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสินค้า การโดยสาร และได้นำมาปรับเป็นพระราชบัญญัติของไทยได้ 40 ฉบับ และกฎกระทรวงหรือกฎระเบียบต่างๆ 155 ประกาศ
ขณะที่ข้อตกลงระหว่างไทย-สปป.ลาว ก็มีระเบียบที่เป็นปัญหาต่อการค้าสินค้าข้ามแดน เช่น ยางพารา ยางรถยนต์ ใช้ระเบียบสินค้าต่างกัน 56 เรื่อง และมีอยู่ 121 เรื่องที่เป็นปัญหาต่อการค้าสินค้าผ่านแดน เช่น น้ำผลไม้ ผลไม้ ใช้ระเบียบสินค้าต่างกัน
ดร.จักรกฤษณ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีระเบียบการขนส่งสินค้า และโดยสารระหว่างประเทศ และใน สปป.ลาวอีกมากมาย เช่น รถยนต์ไทยอยู่ใน สปป.ลาวได้ไม่เกิน 15 วัน ค่าขนส่งสินค้าและรถโดยสารสามารถตั้งราคาค่าขนส่งระหว่างกันได้อย่างเสรีแต่ต้องจดทะเบียนไทย-สปป.ลาวก่อน ศูนย์กระจายสินค้าจะคิดราคาขึ้นลงได้ต้องแจ้งให้รัฐบาลทราบล่วงหน้า 3 เดือน การใช้รถบรรทุกสินค้าในลาวต้องไม่ยาวเกิน 12.2 เมตร พ่วงไม่เกิน 16 เมตร กว้างไม่เกิน 2.50 เมตร เป็นต้น |
|
|
|
|
|
|