สาธารณสุขพบคนไทยบริโภคเกลือหรือโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดถึง 2 เท่า ซึ่งปกติบริโภคเกลือไม่ควรเกิน 1 ช้อนชา/คน/วัน หรือโซเดียมไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัม/คน/วัน ถ้าลดการบริโภคเกลือจะทำให้ลดความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต รวมทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาและลดการเสียชีวิตได้ 13 มีนาคมวันไตโลก ปีนี้ใช้คำขวัญ “โรคไต : เสี่ยงทุกวัย เป็นได้ทุกคน” เน้นให้โรงครัว โรงอาหารในหน่วยงานและสถานพยาบาล และร้านอาหาร ผลิตและจำหน่ายอาหารด้วยการลดเกลือและโซเดียม
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า วันที่ 13 มีนาคม 2557 เป็นวันไตโลก (World Kidney Day) สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ได้ขอความร่วมมือให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สถานพยาบาลทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศในสัปดาห์วันไตโลก และสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม ระหว่างวันที่ 9-16 มีนาคม 2557 ด้วยคำขวัญว่า “โรคไต : เสี่ยงทุกวัย เป็นได้ทุกคน” เพื่อรณรงค์เผยแพร่ความรู้ สร้างความตระหนักแก่ประชาชนทั่วไป กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ กลุ่มผู้ประกอบการอาหาร ต่อพิษภัยของการบริโภคเกลือและโซเดียมเกิน ในการป้องกันและชะลอความเสื่อมของไต ซึ่งโรคไตวายเรื้อรังเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
โรคไม่ติดต่อเรื้อรังโดยเฉพาะ เบาหวานและความดันโลหิตสูง มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมไม่เหมาะสม จากการกินไม่เหมาะสม กินเค็ม มัน หวานมากเกินไป กินผักและผลไม้น้อย ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มสุรา มีความเครียดเรื้อรังและจัดการไม่ได้ นอกจากนี้สาเหตุหลักของโรคไตมาจากความดันโลหิตสูงและการบริโภคเค็ม โดยพบว่าคนไทยบริโภคเกลือหรือโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดถึง 2 เท่า คือ บริโภคเกลือไม่ควรเกิน 1 ช้อนชา/คน/วัน หรือโซเดียมไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัม/คน/วัน ถ้าลดการบริโภคเกลือจะทำให้ลดความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต รวมทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาและลดการเสียชีวิตได้
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า การรณรงค์ในปีนี้เน้นให้โรงครัว โรงอาหารในหน่วยงานและสถานพยาบาล และร้านอาหารผลิตและจำหน่ายอาหารที่ลดเกลือและโซเดียม โดยการลดเค็มครึ่งหนึ่ง ลดการปรุงอาหารด้วยผงปรุงรส ก้อนปรุงรส งดพวงเครื่องปรุงอาหาร งดปรุงอาหารด้วยของหมักดอง เค็ม เช่น หน่อไม้ดอง ผักกาดดอง ปลาเค็ม ไข่เค็ม เป็นต้น
เนื่องจากโรคไตวายเรื้อรัง เป็นโรคที่ผู้ป่วยต้องได้รับความทุกข์ทรมานด้วยการล้างไตแล้ว ยังเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคไต ประชาชนควรปฏิบัติตัวดังนี้ เลือกรับประทานอาหารที่มีรสเค็มน้อย มันน้อยและหวานน้อย ชิมก่อนเติมเครื่องปรุง เพิ่มการทานผักให้ลากสี กินผลไม้สดไม่หวาน เคลื่อนไหวร่างกายให้กระฉับกระเฉง เดินให้มากขึ้น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม เลิกสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่จากผู้อื่น ลดหรือเลิกการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
งานข้อมูลข่าวสารสาธารณสุข 44/2557 ………………………….. 7 มีนาคม 2557 |