สะพัด อ้างชื่อ จายหน่อคำ โผล่ส่งยาบ้า-ซื้อปืนอีก |
|
ประกาศเมื่อ
18 มีนาคม 2014 เวลา 11:44:27 เปิดอ่าน
1322 ครั้ง |
|
|
(แฟ้มภาพ)จายหน่อคำ หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธในแม่น้ำโขง ที่ถูกทางการจีนตามจับได้ใน สปป.ลาว ก่อนจะถูกศาลจีนตัดสินประหารชีวิต หลังก่อเหตุปล้น-ฆ่าลูกเรือจีนในแม่น้ำโขงเมื่อตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา
วันนี้ (17 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ผู้คนในแวดวงธุรกิจ และความมั่นคงชายแดนไทย-พม่า ไทย-สปป.ลาวแถบสามเหลี่ยมทองคำ กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหู หลังมีคนอ้างตัวว่าเป็น “จายหน่อคำ” หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธที่อาละวาดในแม่น้ำโขง ทั้งเรียกเก็บค่าผ่านทาง ก่อเหตุปล้นเรือ ฆ่าลูกเรือจีน 13 ศพเมื่อเดือนตุลาคม 2554 กลับมาสร้างอิทธิพลในพื้นที่แถบนี้อีกครั้ง
ทั้งที่ “จายหน่อคำ” อายุ 44 ปี ซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการติดอาวุธ ถูกทางการจีนนำกำลังมาตามจับได้ในเขต สปป.ลาว เมื่อกลางปี 2555 ถูกศาลเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน จะตัดสินให้ประหารชีวิต ด้วยการฉีดยาพิษเมื่อเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมาแล้ว
โดยมีข่าวแพร่สะพัดว่า คนที่อ้างตัวเป็น “จายหน่อคำ” ได้อ้างอิงข้อมูลถึงผู้พบเห็นในช่วงที่นำยาเสพติดประเภทยาบ้าจำนวนหนึ่งไปส่งมอบแก่ผู้รับซื้อบริเวณร้านอาหารภายในงานบุญแห่งหนึ่งบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เมื่อวันที่ 12-13 มีนาคมที่ผ่านมา และนำเงินจากการค้าขายยาเสพติดได้ไปหาซื้อปืนพกสั้นน้ำหนักเบาหรือปืนกล็อกจำนวนมาก โดยสั่งซื้อกระบอกละ 70,000-90,000 บาท ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างจากในอดีตที่มักใช้อาวุธปืนยาวและเรือยนต์หางยาวเพื่อใช้ก่อเหตุในแม่น้ำโขง
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า บุคคลที่อ้างตัวว่าเป็น “จายหน่อคำ” ไม่ได้แจ้งว่าหากเป็นตัวจริงแล้วรอดจากการถูกประหารชีวิตที่จีนตอนใต้มาได้อย่างไร เพียงแต่แจ้งต่อผู้พบเห็นว่าจะมีข่าวการปฏิบัติงานของกลุ่มตนในอีกไม่กี่วันนี้
อย่างไรก็ตาม มีการคาดหมายว่าอาจเป็นจายหน่อคำตัวปลอมที่พยายามจะสร้างอิทธิพลเหมือนจายหน่อคำในอดีต ซึ่งสอดคล้องกับการข่าวของหน่วยงานต่างๆ ที่ระบุว่าหลังจายหน่อคำถูกศาลจีนสั่งประหารชีวิต ยังเหลือกลุ่มอื่นที่ติดอาวุธและเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันอยู่อีกหลายกลุ่ม แม้ที่ผ่านมาจะถูกปราบปรามหนัก และเข้ามอบตัวพร้อมอาวุธต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ แล้วเป็นจำนวนมาก
อนึ่ง เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขง ตั้งแต่ชายแดนจีน-สามเหลี่ยมทองคำ อยู่ภายใต้การดูแลของ 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบน คือ ไทย พม่า ลาว จีน โดยไทยได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในแม่น้ำโขง (ศปปข.) ที่ภาค 5 และมี ศปปข.ส่วนหน้าอยู่ที่ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสน แห่งที่ 1
ขณะที่ทางการจีนก็จัดกองกำลังกว่า 300 นาย เรือเร็วไม่ต่ำกว่า 8 ลำ พร้อมอาวุธออกลาดตระเวนในแม่น้ำโขงอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งผลักดันและสนับสนุนให้พม่า-สปป.ลาวปฏิบัติการร่วมกันด้วย โดยมีการมอบเรือเพื่อบรรทุกกองกำลังและอาวุธให้เพื่อฝึกซ้อม ลาดตระเวนคุ้มกันเรือสินค้าตลอดเส้นทางสามเหลี่ยมทองคำ เหนือ อ.เชียงแสน ขึ้นไปจนถึงเมืองกวนเหล่ย เมืองท่าหน้าด่านของจีน ที่มณฑลยูนนาน ระยะทาง 264 กิโลเมตร |
|
|
|
|
|
|