สาธารณสุขเผยชาวเชียงรายป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น แนะประชาชนปฏิบัติตัว 2 ให้ 3 ไม่ เพื่อห่างไกลจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง ได้แก่
1.ให้กินครบ 3 มื้อ ครบ 5 หมู่
2. ให้กินผักผลไม้ที่ไม่หวานมากๆ
ส่วน 3 ไม่ ได้แก่
1. ไม่กินข้าวหรือแป้งมาก
2. ไม่กินหวาน มัน เค็ม และ
3. ไม่กินจุบจิบ
วันนี้(28 มีนาคม 2554) ที่โรงแรมวังคำ อ.เมือง จ.เชียงราย นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดการประชุมวิชาการการจัดการโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง โดยมีแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักวิชาการ และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานบริการในคลินิกโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง จากสำนักงานสาธารณสุข โรงพยาบาลทุกแห่ง เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกว่า 250 คน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง แบบองค์รวมโดยทีมสหวิชาชีพ การประชุมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากร.ศ.นพ.สมพงษ์ สุวรรณวลัยกร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด รพ.จุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนพ.ศักดิ์ชัย จันทรอมรกุล อายุรแพทย์ โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค เป็นวิทยากร
นายแพทย์ชำนาญกล่าวว่า สถานการณ์ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญของเชียงรายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกัน โดยพบในปี 2552 โรคเบาหวานมีอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 594 ต่อประชากรแสนคน และในปี 2553 เพิ่มเป็น 1,143 ต่อประชากรแสนคน สำหรับโรคความดันโลหิตสูงในปี 2552 มีอัตราเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 1,124 ต่อประชากรแสนคน และในปี 2553 เพิ่มเป็น 2,172 ต่อประชากรแสนคน
จากข้อมูลดังกล่าว ในปี 2554 คณะกรรมการโครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวง ทรงห่วงใยสุขภาพประชาชนฯ จังหวัดเชียงราย จึงร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อตรวจคัดกรองประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ ลดเสี่ยงโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง และสร้างกระแสให้ประชาชนใส่ใจสุขภาพตนเอง โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายอายุ 35 ปีขึ้นไปได้รับการคัดกรองและเฝ้าระวัง ป้องกันความเสี่ยง กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วยได้รับการดูแลที่เหมาะสม มีการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบ/ชุมชนต้นแบบในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดโรค และพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้และทักษะในการจัดการเพื่อบริการลดโรค
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้สถานบริการทุกแห่งในเชียงราย มีทะเบียนผู้ป่วยครอบคลุม มีการติดตามประเมินและควบคุมกำกับปีละ 2 ครั้ง และได้ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นความสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยในปี 2554 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสุขภาพตำบลถึงร้อยละ 10.7
“ทุกคนต้องการมีสุขภาพที่ดีและไม่เจ็บป่วย การป้องกันที่ดีที่สุดในเบื้องต้นขอแนะนำให้ปฏิบัติตัวง่ายๆด้วยวิธี 2 ให้ 3 ไม่ ประกอบด้วย 2 ให้ ได้แก่ 1. ให้กินครบ 3 มื้อ ครบ 5 หมู่ 2. ให้กินผักผลไม้มากๆ แต่ต้องเป็นผลไม้ใม่หวานมาก ส่วน 3 ไม่ ได้แก่ 1. ไม่กินข้าว/แป้งมาก 2. ไม่กินหวาน มัน เค็ม และ3. ไม่กินจุบจิบ ซึ่งการกินที่สมดุลและหลากหลาย ร่วมกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม มีอารมณ์ดีและพักผ่อนให้เพียงพอ หากปฏิบัติได้ก็จะห่างไกลจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง” นายแพทย์ชำนาญกล่าว... |