มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเวทีถกผลกระทบแผ่นดินไหว ชี้รอยเลื่อนแม่จัน น่าห่วง ผวาเกิดเหตุเหมือนพม่าเมื่อมีนาฯ 54 เตือนต้องคุมเข้มการก่อสร้างอาคาร 10 จว.ภาคเหนือ รองรับเหตุไม่คาดฝัน
วันนี้ (3 เม.ย.54) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย ได้จัดการเสวนาเรื่อง "ทิศทางเศรษฐกิจเชียงรายและภาคเหนือตอนบน-ผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว" ณ มฟล.โดยมีนายสัตวแพทย์ ดร.เทอด เทศประทีม รักษาการแทนอธิการ มฟล.เป็นประธานและมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านแผ่นดินไหว -การปกครองและเศรษฐกิจ และผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน
นายสัตวแพทย์ ดร.เทอด ให้เหตุผลว่า สาเหตุที่มีการจัดเสวนาเรื่องนี้ เพราะเชียงรายตั้งอยู่บนรอยเลื่อนที่มีพลังมากถึง 4 รอยคือรอยเลื่อนเชียงแสน รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่อิง และรอยเลื่อนแม่ลาว
รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ ประธานกรรมการอำนวยการ มฟล.กล่าวว่า ผลของการเกิดแผ่นดินไหววัดความแรงตามมาตราวัดริคเตอร์ได้ 6.7 ริกเตอร์ ในประเทศพม่าห่างจาก อ.แม่สาย ประมาณ 56 กิโลเมตรเมื่อวันที่ 24 มี.ค.54 ที่ผ่านมาได้สร้างผลกระทบหลายเรื่อง ทั้งความวิตกและการท่องเที่ยว โดยหลังเหตุการณ์นักท่องเที่ยวก็เริ่มเดินทางออกจากจังหวัด ผู้จะเดินทางเข้าก็มักถามข้อมูลเรื่องความมั่นคงของอาคาร สถานการณ์แผ่นดินไหว ฯลฯ ขณะที่ จ.เชียงราย มีความอ่อนไหวหลายด้าน
ด้านนายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า รอยเลื่อนขนาดใหญ่บริเวณ สปป.ลาว-พม่า ใกล้กับภาคเหนือของไทยคือ ฝั่งพม่ามีรอยเลื่อน "สะแก" ซึ่งเป็นรอยใหญ่ตัดผ่ากลางเมืองปิ่นมะนาเมืองหลวงใหม่ของพม่า เคยไหวแรงถึง 7 ริกเตอร์ ส่วนฝั่งตะวันออกเป็นรอยเลื่อนไม่ใหญ่ แต่มีลักษณะแตกแขนงเป็นหลายรอย โดยรอยเลื่อนใหญ่ที่สุดคือรอยเลื่อน "น้ำมา" ในพม่าซึ่งสร้างผลกระทบไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค.54ดังกล่าว และมีรอยเลื่อนย่อยอื่นๆ เป็นแขนง เช่น รอยเลื่อนแม่จัน แม่อิง ฯลฯ
สำหรับรอยเลื่อนแม่จัน ยาวที่สุดและอาจส่งผลกระทบได้ โดยมีความยาวประมาณ 150 กิโลเมตร ตั้งแต่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ทอดยาวผ่านบ้านกิ่วสะไต-บ่อน้ำพุร้อนป่าตึง-แม่จัน-เชียงแสน-สปป.ลาว โดยสันนิฐานว่า เคยไหวแรงจนทำให้เกิดตำนานเวียงหนองหล่มหรือเมืองในอาณาจักรโยนกนครล่มลงเมื่อนับพันปีก่อน
"ได้ไปศึกษาพื้นดินที่หมู่บ้านโป่งปากแขม อ.แม่จัน พบว่าใต้ดินมีหลักฐานระบุว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อประมาณ 1,500 ล้านปีก่อน มีความแรงถึง 6.6 ริกเตอร์จนทำให้ชั้นดินฉีกขาด โดยรอยเลื่อนแม่จันขนานกับรอยเลื่อนแม่มา ที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 24 มี.ค.54 มากและยังขนานกันไปอีกด้วย แต่ก็ไม่ควรตื่นตระหนกเกินไป เพราะหลังจากเกิดเมื่อ 1,500 ปีก่อน ก็ไม่เคยเกิดอีกเลย" นายสุวิทย์ กล่าว
ขณะที่ภาพรวมของเชียงรายหรือภาคเหนือของไทยถือว่า อยู่ในเขตแผ่นดินไหวระดับปานกลาง ไม่รุนแรงเหมือนในพม่า แต่ก็ไม่ควรประมาทเพราะแผ่นดินไหวพยากรณ์ล่วงหน้าไม่ได้
จึงขอให้ทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนทั่วไปได้ปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคาร ที่กำหนดให้ 10 จังหวัดภาคเหนือสร้างให้รองรับแผ่นดินไหว ดูแลโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2540 อย่างเข้มงวดด้วย
สำหรับรอยเลื่อนต่างๆ มีการพยากรณ์รอบของการสั่นไหวแตกต่างกันไป เช่น รอยเลื่อนสะแก ในพม่ามีรอบการไหว 100 ปี รอยเลื่อนแม่จันประมาณ 1,000 ปี
ในโอกาสเดียวกันนี้ก็ได้มีการเสวนาทิศทางเศรษฐกิจเชียงรายและภาคเหนือตอนบนด้วย ซึ่งนายพินิจ หาญพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้รายงานถึงความพร้อมของภาครัฐในการระดมพลหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น ส่วน ดร.ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นครั้งล่าสุดทำให้การเจริญเติบโตของญี่ปุ่นลดลงเพียง 0.2-0.5% ดังนั้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเตรียมพร้อม
ขณะที่นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือระบุว่า เศรษฐกิจโดยเฉพาะชายแดนกำลังดีอย่างมาก โดยจีนพยายามขยายเศรษฐกิจผ่านเชียงรายอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ในประเทศจีนเองมีแผ่นดินไหวรุนแรงกว่าไทยและพม่าอย่างมาก ดังนั้นจึงไม่น่าวิตกเพราะทุกฝ่ายยังเตรียมพร้อม และเชียงรายก็มีความพร้อมเพื่อเป็นประตูสู่การค้าชายแดนและพัฒนาเศรษฐกิจด้านอื่นๆ อยู่แล้ว
ด้านนายศุกรีย์ สิทธิวนิช ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า เชียงรายควรโหมประชาสัมพันธ์ 750 ปีเมืองเชียงราย เพื่อสร้างกระแสด้านการท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้เกิดความวิตกมากเกินไปเพราะยังมีสิ่งดีๆ มากมาย |