สาธารณสุขเชียงราย เผยมีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 11.5 ล้านคน แนะผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปควรตรวจวัดความดันโลหิตทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและโรคไต
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดเป็นวันความดันโลหิตสูงโลก ในปีนี้ได้ให้คำขวัญรณรงค์ว่า “Know your numbers target your blood pressure” (รู้ค่าความดันโลหิต พิชิตให้อยู่เกณฑ์) เนื่องจากภาวะความดันโลหิตสูง เป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่มีการระบาดทั่วโลก และเป็นเพชฌฆาตเงียบ เพราะในช่วงแรกจะไม่แสดงอาการ อาการของโรคจะค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลานาน จึงทำให้ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงกว่าจะรู้ตัวว่าป่วยก็เกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว ได้แก่ ภาวะหัวใจวาย ภาวะหัวใจขาดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง และโรคหลอดเลือดสมอง ปัจจุบันพบคนทั่วโลกเป็นโรคความดันโลหิตสูง 1.5 พันล้านคน และเสียชีวิตสูงถึงปีละ 7 ล้านคน
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2552 พบคนไทยป่วยเป็นความดันโลหิตสูงและนอนรักษาตัวในสถานบริการสาธารณสุขถึง 981 คนต่อประชากรแสนคน โดยพบภาคเหนือและภาคกลางมีจำนวนใกล้เคียงกัน รองลงมาได้แก่ ภาคใต้ และภาคอีสานน้อยสุด และข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปเป็นโรคความดันโลหิตสูง 11.5 ล้านคน นับว่าโรคความดันโลหิตสูงเป็นมหันตภัยเงียบที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้ป่วยจากภาวะแทรกซ้อนที่มีสาเหตุมาจากความดันโลหิตเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน เช่น ภาวะหัวใจวาย ภาวะหัวใจขาดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง และโรคหลอดเลือดสมอง
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า ปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง เกิดจากการกินอยู่ การใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล สะสมน้ำหนัก สะสมโซเดียมและไขมันจากอาหารสำเร็จรูป อาหารจานด่วน สะสมความเครียดจากเหตุการณ์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ปริมาณเลือดที่ไปกลับหัวใจเพิ่มขึ้น หัวใจทำงานหนัก บีบเร็วและแรงขึ้น หลอดเลือดแดงส่วนปลายหดตัวมากขึ้น ความดันโลหิตสูงก็สูงขึ้นเรื่อยๆ หากหลอดเลือดที่สมอง หัวใจ ไต เกิดตีบตันหรือแตก ก็จะทำให้เป็นอัมพาต หัวใจวาย ไตวาย และเสียชีวิตได้
ความดันโลหิตสูง หมายถึงระดับความดันโลหิต 140/90 มิลลิเมตรปรอท หรือมากกว่าซึ่งจะเป็นค่าบนหรือค่าล่างก็ได้ สำหรับคนปกติจะมีค่าความดันโลหิต 120/80 มิลิเมตรปรอท หากสงสัยว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งส่วนมากจะตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปพบแพทย์เพื่อตรวจปัญหาอื่น บางรายอาจมีอาการเตือนเช่น ปวดมึนท้ายทอย วิงเวียน ปวดศีรษะตุ๊บๆ หากเป็นนานหรือมีความดันโลหิตสูงมากๆ อาจมีเลือดกำเดาไหล ตามัว ใจสั่น มือเท้าชา ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์และรับการรักษาที่ถูกต้องและทันที โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปควรตรวจวัดความดันโลหิตทุกปี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจและโรคไต
ทั้งนี้ การปฏิบัติตัวง่ายๆ เป็นประจำ จะป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ถึงร้อยละ 80 ได้แก่ กินอาหารที่ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ ออกกำลังกายให้เพียงพอวันละ 30 นาที มีอารมณ์ดีพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา นายแพทย์ชำนาญกล่าว
งานควบคุมโรคไม่ติดต่อ25/2554 *************************** 11 พฤษภาคม 2554 |