อธิบดีกรมบัญชีกลางร่วมลงนามกับตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน 32 แห่งในโครงการเบิกจ่ายตรงประเภทผู้ป่วยในตามเกณฑ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRGs) แก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญและบุคคลในครอบครัว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายมั่น พัธโนทัย เป็นประธาน
เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2554 กรมบัญชีกลางได้จัดพิธีลงนามโครงการเบิกจ่ายตรงประเภทผู้ป่วยในตามเกณฑ์
กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRGs) ในสถานพยาบาลของเอกชน ระหว่างกรมบัญชีกลาง และสถานพยาบาลของเอกชน 32 แห่ง ณ โรงแรมแม่น้ำ รามาดา พลาซ่า กรุงเทพฯ โดยมีนายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน
นายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างกรมบัญชีกลาง และสถานพยาบาลเอกชน จำนวน 32 แห่ง เพื่อทำข้อตกลงร่วมกันในโครงการเบิกจ่ายตรงประเภทผู้ป่วยในตามเกณฑ์กลุ่มวินิจฉัยร่วม (DRGs) โดยจะเริ่มต้นใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป
นายมั่น กล่าวว่า การร่วมมือดังกล่าว สถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการจะเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในกับกรมบัญชีกลาง ตามสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 และส่งข้อมูลการรักษาพยาบาลของที่เข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน เพื่อเป็นฐานข้อมูลตามกลุ่มโรค ซึ่งใช้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบการจัดสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของรัฐ และสอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงการคลังในการกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณของประเทศ และเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน ที่จะมีทางเลือกในการเข้ารับบริการด้านสุขภาพมากขึ้น และมีความสะดวกคล่องตัวมากขึ้น
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า การร่วมลงนามครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มจำนวนสถานพยาบาลเอกชนเพื่อรักษาพยาบาลแก่ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย อาทิ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ และบุคคลในครอบครัว นอกเหนือจากสถานพยาบาลที่เป็นของรัฐ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิสามารถเลือกใช้สถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ ไม่ต้องเดินทางไกล ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
โครงการดังกล่าวเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนระบบเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยในระหว่างกรมบัญชีกลางกับสถานพยาบาลเท่านั้น เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างเหมาะสมและรัฐสามารถบริหารค่าใช้จ่ายในด้านนี้
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับการรักษาพยาบาลที่เป็นมาตรฐาน และเป็นไปตามหลักการทางการแพทย์อย่างเหมาะสม และถูกต้อง ไม่ได้ทำให้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการลดลงแต่อย่างใด โดยที่สิทธิของข้าราชการนั้นยังมีเช่นเดิมแต่เพิ่มทางเลือกได้มากขึ้นและพร้อมที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
สำหรับหลักเกณฑ์นั้น ได้กำหนดเกี่ยวกับโรคที่จะเบิกจ่ายได้ต้องเป็น โรคที่ต้องมีการนัดผ่าตัดล่วงหน้า (Elective Surgery) ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อโรคได้ที่โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบจ่ายเอง (Copayment) ไม่สามารถเบิกได้ ประกอบด้วย 1. ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ ส่วนเกินอัตราที่กรมบัญชีกลางกำหนด 2. ค่าธรรมเนียมแพทย์พิเศษ และ 3. ค่า Surcharge ซึ่งทางโรงพยาบาลจะแจ้งผู้ป่วยให้ทราบก่อนเข้ารับการรักษา โดยสามารถดูรายชื่อโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ทั้ง 32 แห่ง ได้ที่เว็บไซด์กรมบัญชีกลาง www.cgd.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 0-2270-6400 |