กรมทางหลวงชนบทร่วมกับจังหวัดเชียงรายจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในการก่อสร้างทางหลวงชนบท ชร.๔๐๔๙ เชื่อมอำเภอเชียงแสนและดอยหลวง
เช้าวันที่ ๒๐ พ.ค.๕๔ ที่โรงแรมเวียงอินทร์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบท ชร.๔๐๔๙ สายอำเภอเชียงแสนและอำเภอดอยหลวงของจังหวัดเชียงราย โดยมี หัวหน้าส่วนราชการและผู้นำท้องถิ่น ตลอดทั้ง ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมกำลังก่อสร้างท่าเรือแห่งที่ ๒ บริเวณแม่น้ำกกบรรจบกับแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสน เพื่อเสริมสร้างระบบขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศกับลุ่มน้ำโขงตอนบน ในการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าและการคมนาคมไปสู่ท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุดออกสู่ตลาดระดับนานาชาติ กรมทางหลวงชนบทจึงได้สนับสนุนการพัฒนาท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ ๒ ด้วยการสร้างโครงข่ายทางหลวงชนบทเพื่อสนับสนุนการคมนาคมการขนส่งและการค้า ในการก่อสร้างถนนสาย ชร.๔๐๔๙ จากแยกทางหลวง ๑๑๒๙ ถึงบ้านดอนงาม อำเภอเชียงแสน อำเภอดอยหลวง ของจังหวัดเชียงราย ระยะทาง ๒๐ กิโลเมตร โดยกรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.๒๕๔๘ และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ จึงได้ว่าจ้างบริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องกับโครงการจากทุกภาคส่วน และประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบผลการศึกษาของโครงการที่ถูกต้อง ตำแหน่งที่ตั้งโครงการ รวมทั้งรูปแบบเบื้องต้น การศึกษาความเหมาะสมของโครงการและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้ง การเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม ในการให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ สำหรับในครั้งที่ ๓ นี้ ได้มีการนำเสนอผลการศึกษาด้านต่าง ๆ การรับข้อเสนอประเด็นห่วงกังวล และข้อคิดเห็นเพิ่มเติมต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการการสร้างความเข้าใจ ที่ถูกต้องและลดผลกระทบจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง....
นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ยังได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า กรมทางหลวงตระหนักในการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอน เพราะหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ ประชาชนจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง อีกทั้ง จะต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาให้สามารถใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาความเจริญของชุมชน ตลอดทั้ง คุณภาพชีวิตของประชาชนและประเทศในอนาคตอีกด้วย
----------------------------------------------
ภาณุฉัตร สวัสดิชัย ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย รายงาน ๒๐/๐๕/๕๔ |