สาธารณสุขเผยขณะนี้เด็กเล็กๆทั่วโลก 1 ใน 4 เสียชีวิตเพราะได้รับควันบุหรี่มือสองจากพ่อและแม่ที่สูบบุหรี่ สำหรับคนไทยมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่เป็นอันดับ 2 รองจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย โดยพบเสียชีวิตจากบุหรี่ทั้งสูบเอง และบุหรี่มือสองปีละกว่า 40,000 คน โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอดจะมีผู้ป่วยรายใหม่ ปีละเกือบ 20,000 คน แนะเลิกสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสองในสิ่งแวดล้อม ทานผัก ผลไม้ อาหารที่มีวิตามินซี วิตามินอี ข้าวซ้อมมือ รำข้าว ให้มากขึ้น และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
นายแพทย์ชำนาญ หาญสุทธิเวชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ในปีนี้ได้กำหนดคำขวัญว่า The Framework Convention on Tobacco Control “พิทักษ์สิทธิตามกฎหมาย มุ่งสู่สังคมไทยปลอดบุหรี่” โดยสถิติในปีนี้พบมีประชากรโลกเสียชีวิต ด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ ได้แก่ โรคหัวใจล้มเหลว โรคมะเร็งและโรคปอด รวมทั้งโรคอื่นๆอีกมากมายถึง 5 ล้านคน ยังไม่นับรวมถึงการเสียชีวิตอีก 600,000 คน ซึ่ง 1 ใน 4 เป็นเด็กเล็กๆที่เสียชีวิตเพราะได้รับควันบุหรี่มือสองจากพ่อและแม่ที่สูบบุหรี่ หากการควบคุมการบริโภคยาสูบไม่เข้มแข็ง จะมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ถึงปีละ 8 ล้านคน ซึ่งในศตวรรษที่ 20 บุหรี่ได้ฆ่าคนไปแล้ว 100 ล้านคน และคาดว่าบุหรี่จะฆ่าคนในศตวรรษที่ 21 ถึง 1,000 ล้านคน
การรณรงค์ในปีนี้ ได้ขอความร่วมมือจากองค์กรภาคี หน่วยงานต่างๆ ร่วมรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดกับตัวผู้สูบเพียงอย่างเดียว แต่ส่งผลกระทบต่อบุคคลรอบข้างและครอบครัวของผู้สูบบุหรี่ด้วย
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของประเทศไทย มีคนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่ทั้งสูบเองและบุหรี่มือสอง ปีละกว่า 40,000 คน โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอดจะมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละเกือบ 20,000 คน บุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 ของการเสียชีวิตของคนไทยรองจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย
จากการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด ในบุหรี่ 1 มวน จะมีสารประกอบต่างๆประมาณ 4,000 ชนิด มีสารก่อมะเร็งประมาณ 60 ชนิดซึ่งผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 เท่า และถ้าสูบบุหรี่วันละ 1 ซองหรือ 20 มวน จะเพิ่มเป็น 20 เท่า หากหยุดสูบบุหรี่จะช่วยลดความเสี่ยงและเห็นผลชัดเจนเมื่อหยุดสูบบุหรี่ได้นานมากกว่า 5 ปีขึ้นไป การเกิดโรคมะเร็งปอดสามารถพบได้ในคนที่ไม่สูบบุหรี่แต่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีควันบุหรี่ หรือเรียกว่าการสูบบุหรี่มือสองเพราะได้รับควันบุหรี่เหมือนกับผู้สูบบุหรี่
นายแพทย์ชำนาญกล่าวต่ออีกว่า อาการที่ควรสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคมะเร็งปอดที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการไอที่ไม่ทุเลาเหมือนการไอปกติ แต่กลับเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เจ็บหน้าอกตลอดเวลา ไอมีเสมหะเป็นเลือด หายใจเหนื่อยหอบ เสียงแหบ เป็นโรคปอดบวมหรือหลอดลมอักเสบบ่อยๆ บวมบริเวณใบหน้าและลำคอ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หากพบคนในบ้านมีอาการดังกล่าว ควรพาไปตรวจและปรึกษาแพทย์ทันที
การป้องกันมะเร็งปอดที่สำคัญคือการเลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการได้รับควัน บุหรี่มือสองในสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่เข้าใกล้บริเวณจุดสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในคอนโด ลานจอดรถ ห้องน้ำสาธารณะ รับประทานผัก ผลไม้ให้มากขึ้น และอาหารที่มีวิตามินซี วิตามินอี รวมทั้งเซเลเนียม เช่น ข้าวซ้อมมือ รำข้าว ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและการดื่มสุรา นายแพทย์ชำนาญกล่าว.
งานควบคุมโรคไม่ติดต่อ 25/2554 27พฤษภาคม 2554 |