ถูกแชร์ทั้งหมด
วัดพระแก้ว เป็นวัดเก่าแก่ มีพระพุทธรูปที่สำคัญอยู่คู่กับจังหวัดเชียงรายมายาวนาน เดิมชื่อวัดป่าญะ หรือป่าเยียะ เมื่อปี พ.ศ.1977 ฟ้าผ่าองค์พระเจดีย์พบพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองอยู่ภายในจึงนำมาประดิษฐานไว้ในวิหาร ต่อมาปูนบางแห่งหลุดกะเทาะออก จึงกะเทาะปูนออกทั้งองค์พบพระแก้วมรกต มีพุทธลักษณะงดงามมากเป็นที่เลื่องลือโจษขานกันทั่วไป การค้นพบพระแก้วมรกตในครั้งนั้น ทำให้วัดป่าญะ ได้รับการขนานนามใหม่ว่า วัดพระแก้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพระแก้วมรกตได้ประดิษฐานยังสถานที่ต่างๆอีกหลายแห่ง ได้แก่ เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ กรุงธนบุรี จนในที่สุดพระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ได้ไปประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามกรุงเทพมหานคร เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองแผ่นดินสยามมาจนกระทั่งปัจจุบัน
วัดพระแก้ว จ.เชียงราย ปัจจุบันได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวง มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 แมัในปัจจุบันจะไม่มีพระแก้วมรกตองค์จริงอยู่ที่นี่ แต่ภายในวัดยังมีโบราณสถาน และโบราณวัตถุ มีโฮงหลวงแสงแก้วเป็นพิพิธภัณฑ์เก็บข้าวของเครื่องใช้ในสมัยล้านนาไว้มากมาก และมีหอพระหยก ที่สร้างด้วยศิลปะแบบล้านนาโบราณ เป็นอาคารไม้ ตามจินตนาการของ อาจารย์ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร ภายในมี พระพุทธรัตนากร นวุตติวัสสานุสรณ์มงคล หรือ พระหยกเชียงราย
พระหยกเชียงราย สร้างเนื่องใน วโรกาส สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา และเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า วัดพระแก้วแห่งนี้ เป็นสถานที่ค้นพบพระแก้วมรกต สร้างเมื่อ พศ.2534 โดยได้รับความอุปถัมภ์ จาก พลเอกชาติชาย และท่านผู้หญิงบุณเรือน ชุณหะวัณ
พระหยกเชียงราย เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิราบ ทำด้วยหยกจากประเทศแคนาดา ซึ่งมิสเตอร์ฮูเวิร์ด โล นำมาถวาย มีขนาดหน้าตักกว้าง 47.9 เซนติเมตร สูง 65.9 เซนติเมตร (พระแก้วมรกต กว้าง 48.3 เซนติเมตร สูง 66 เซนติเมตร) ออกแบบโดย อาจารย์ กนก วิศวกุล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2534
แล้วนำมาประดิษฐานไว้ที่หอพระหยกแห่งนี้ ให้นักท่องเที่ยวได้กราบไหว้ เคารพบูชา มาจนถึงปัจจุบัน
อุโบสถวัดพระแก้ว พระอุโบสถวัดพระแก้ว มีลักษณะเป็นทรงแบบล้านนา หรือ แบบแม่ไก่กกไข่ หลังคาซ้อนกันสองชั้น มีพระเจ้าล้านทอง ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 2.8 เมตร พระรัศมีเป็นลักษณะดอกบัวตูม
สำหรับพระเจ้าล้านทององค์นี้ เดิมประดิษฐานอยู่วัดล้านทอง กลางเมืองเชียงราย (ปัจจุบันคือสถานที่ตั้งโรงเรียนอนุบาลเชียงราย) เมื่อวัดมีสถานภาพเป็นวัดร้าง ได้อัญเชิญมาประดิษฐานณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2504 พระเจ้าล้านทององค์นี้ ถือว่าเป็นพระพุทธรูปเชียงแสน สกุลช่างปาละ ที่ใหญ่ที่สุดและสวยที่สุดในประเทศไทย
โฮงหลวงแสงแก้ว ปัจจุบันได้ถูกตั้งให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด ตั้งอยู่ซีกกำแพงวัด ด้านทิศใต้ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2538 ออกแบบ โดย นายนภดล อิงควณิชสถาปนิกชาวเชียงราย ลักษณะอาคารเป็นทรงล้านนาประยุกต์ อาคารสูงสองชั้น โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ตบแต่งด้วย ไม้สักทั้งภายนอกและภายใน โดยมีคุณแม่อมรา มุนิกานนท์ (แสงแก้ว) เป็นผู้อุปถัมภ์การก่อสร้าง มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอาคารรวบรวมศิลปวัตถุที่ สำคัญของวัดและสิ่งของที่มีผู้นำมาถวายให้อยู่ เป็นระบบ เป็นการสงวนรักษาไว้ตลอดไปอีกทั้ง จัดแสดงศิลปวัตถุเหล่านี้ให้แก่ผู้เข้าชมทั้งนักเรียน นักศึกษา ประชาชน นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่าง ประเทศและเป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยทาง ด้านศาสนาและวัฒนธรรมล้านนา
มีองค์พระพุทธศรีเชียงราย ศิลปะแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ที่งดงามอยู่ภายในโฮงหลวงแสงแก้ว และยังพระเจ้าทันใจ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสนพระพุทธรูปที่มาช่วยกันสร้างแล้วเสร็จภายในวันเดียว ชาวล้านนาเชื่อว่าถ้าได้อธิษฐานสิ่งใดจากพระพุทธรูปองค์นี้จะได้รับผลรวดเร็วทันใจ
คลิปวีดีโอสั้นๆ พาเที่ยววัดพระแก้ว จ.เชียงราย ทีมงานได้ถ่ายทำไว้เมื่อ 7 เมษายน 2560
นอกจากหอพระหยก อุโบสถ และโฮงหลวงแสงแก้ว ภายในวัดพระแก้วยังมีมุมต่างๆซุ้มประตู หลังคา พระพุทธรูปและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆที่มีข้อมูลอีกมากมาย สามารถดาวน์โหลดข้อมูลเอกสาร PDF โดยตรงจากเว็บของวัดพระแก้วตามลิงค์นี้ได้
http://www.watphrakaew-chiangrai.com/filesAttach/pdf.pdf
ข้อมูลการเดินทาง : เมื่อถึงห้าแยกพ่อขุนเม็งรายกลางตัวเมืองเชียงรายให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสิงหไคล แล้วตรงเรื่อยๆ จนสุดทางสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 100 เมตร จะเห็นวัดพระแก้วอยู่ทางขวามือ
!! เปิดให้เข้าชม ฟรี!! ทุกวัน
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัดพระแก้ว จ.เชียงราย
เลขที่ 19 หมู่1 ถ.ไตรรัตน์ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 57000
โทร / แฟ็กซ์ 053-711385, 053-718534
เว็บไซต์ http://www.watphrakaew-chiangrai.com