ถูกแชร์ทั้งหมด
ได้ยินชื่อหมู่บ้านนี้มานานแล้ว วันนี้มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรม Work Shop Trip ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภายใต้ชื่อ Forest Tea Artisan
สีสันแห่งขุนเขา ด้วยการสร้างสรรค์เมนูจากยอดใบชาอินทรีย์ในป่าบ้านหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ ที่มีการดำเนินวิถีชีวิตร่วมกับผืนป่าหินลาดในได้อย่างสมดุล นอกจากนั้นหมู่บ้านแห่งนี้ยังมีเรื่องของน้ำผึ้งป่า และการปลูกชาอินทรีย์ ซึ่งวันนี้เราจะได้ไปติดตามวิธีการเก็บชา และเรียนรู้เรื่องของ "ชา" จากช่างชาในป่าบ้านหินลาดใน
หมู่บ้านหินลาดใน เป็นหมู่บ้านเล็กๆของชาวปกาเกอะญอ ห่างจากถนนสายหลัก อ.เวียงป่าเป้า - อ.พร้าว ประมาณ 2 กิโลเมตร มีประชากรเพียง 100 กว่าคนเท่านั้น ไม่ได้มีบันทึกไว้ว่าเริ่มมีหมู่บ้านตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่จากคำบอกเล่าก็อยู่กันมาหลายรุ่นหลายร้อยปี วางตัวอยู่ท่ามกลางหุบเขาที่มีป่าไม้ปกคลุมลักษณะเป็นป่าดิบเขา ที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลป่าต้นน้ำไว้เป็นอย่างดี จึงมีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำไหลตามลำธารผ่านหมู่บ้านตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในเรื่องของการปลูกชา เก็บชา และน้ำผึ้งป่า รวมไปถึงเรื่องของการทำนวเกษตรอินทรีย์ ทำไร่หมุนเวียน ที่มีหลายองค์กรหลายหน่วยงานให้ความสนใจ เข้ามาศึกษาดูงานตลอด
ที่นี่เราได้ไปพบกับคุณทศ-ชัยธวัช จอมติ ชาวปกาเกอะยอ รุ่นใหม่วัยกลางคนและยังเป็นผู้บุกเบิกทำการตลาดให้กับแบรนด์กาแฟบ้านหินลาดในอีกด้วย ในวันนี้มารับหน้าที่เป็นไกด์อาสานำพาคณะเราไปเรียนรู้สัมผัสวิถีชีวิตของหมู่บ้านหินลาดใน พาเดินเข้าไปศึกษาพื้นที่ป่า และเก็บชา ไปดูว่าชาวบ้านที่นี่เขาใช้ชีวิตอยู่กับป่าไม้ได้ยังไง รวมทั้งคุณโต-ชูเกียรติ เวสารัชชพงศ์ จากร้านชาสวรรค์บนดิน ที่มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับชา วิธีการเก็บชา การคั่วชา ในเราฟังในทริปนี้
จัดเตรียมข้าวของ น้ำดื่มเสร็จ เราออกทางเข้าป่า นำทางโดยพี่ทศ ในระหว่างทางพี่เขาก็จะหยุดอธิบายเกี่ยวกับลักษณะของต้นไม้ พันธ์ไม้ วัฏจักรของต้นไม้แต่ละแบบในป่าแถบนี้ เล่าเรื่องเกี่ยวกับหมู่บ้าน อาชีพของชาวบ้านที่นี่ และการดูป่าไม้ นานาสาระ ไปเรื่อยๆ ทางด้านคุณโตก็คอยเสริมอธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของชา ต้องยอมรับว่าเป็นผู้ที่รู้ลึกเรื่องชาและถ่ายทอดองค์ความรู้ออกมาได้ดีมากๆครับ นาทีนี้ต้องยกให้พี่เขาเป็นกูรูเรื่องชาคนหนึ่งไปเลย
เป็นการเข้าไปสัมผัสเรียนรู้กับห้องเรียนธรรมชาติในป่าจริงๆ แม้จะต้องเดินเหน็ดเหนื่อย แต่ทุกคนก็ไม่มีบ่น
รูปด้านล่างนี้คือรังผึ้งป่า ที่ชาวบ้านช่วยกันทำให้ผึ้งมาทำรัง ซึ่งเราจะเห็นรังผึ้งลักษณะนี้อยู่ทั่วไป ชาวบ้านจะช่วยกันรักษาผึ้งป่าเอาไว้ ไม่มีการทำลายหรือนำรังที่มีตัวอ่อนของผึ้งมากินอย่างเด็ดขาด ผึ้งป่าที่นี่หลักๆก็จะมีผึ้งหลวง ผึ้งชันโรง และน้ำผึ้งที่หายากอย่างผึ้งโพรง (ตามท้องตลาดที่ขายทั่วไปจะเป็นผึึ้งหลวง) และคุณสมบัติกลิ่นของน้ำผึ้งที่หมู่บ้านนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ที่ตัวผึ้งได้เกษรจากดอกไม้ป่าแต่ละชนิดมา ทำให้มีรสชาติที่โดดเด่นเป็นน้ำผึ้งจากป่าจริงๆ
หลังจากเดินเข้าป่ากันจนได้เหงื่อพอสมควร ก็มีเมนูอาหารพื้นบ้านที่เรียบง่าย อย่างแกงหน่อไม้ กับข้าวเบ๊อะ แกงหน่อไม้เราหากินได้ทั่วไป ผมจึงสนใจอยู่ที่เมนู “ข้าวเบ๊อะ” อาหารพื้นบ้านของชาวปกาเกอะญอ ลักษณะก็คล้ายๆกับข้าวต้มทรงเครื่องนั่นแหละ มีเนื้อ มีผักพื้นบ้าน นำต้มรวมกัน เพียงแต่ที่มาของเมนูนี้มันพิเศษตรงที่มีเรื่องราว ที่แสดงถึงความรักความผูกพันธ์ในการใช้ชีวิตอยู่กับป่า พี่ทศเล่าให้เราฟังถึงความเป็นมาเมนูนี้ว่า หากในปีไหนที่ปลูกข้าวได้ผลผลิตไม่ดี อาจจะมีภัยแล้ง หรือปัจจัยอื่นๆเข้ามา เมื่อข้าวไม่พอกิน ก็จะนำข้าวมาต้ม รวมกับหัวเผือก หัวมัน ผักหรือพืชผลที่มีอยู่ เพืื่อให้อาหารเพียงพอสำหรับสมาชิกในครอบครัวได้กินอิ่ม สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายผ่านเมนูอาหารของชนเผ่าปกาเกอะญอ ที่เรียกกันว่า"ข้าวเบ๊อะ"
นอกจากนี้ข้าวเบ๊อะยังเป็นอาหารถิ่น ที่นิยมนำมาเลี้ยงต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ได้เข้ามาเยือนในหมู่บ้าน และเป็นเมนูหลักในพิธิกรรมต่างๆของชาวปกาเกอะญออีกด้วย
อีกหนึ่งเมนูเด็ดสุด เข้ากับบรรรยากาศในป่าก็คงจะเป็นเมนูยำปลากระป๋องใบชา ตรา 1 แม่ครัวนี่แหละ รสชาติก็จะฝาดๆของยอดชา ตัดกับรสชาติเปรี้ยวๆนิดๆของน้ำมะนาว เมื่อทานกับข้าวสวยที่ห่อใส่ใบตองมาแจกจ่าย กินกับผักแนมพื้นถิ่น ก็เข้ากันได้ดี นั่งลงกินกับพื้นหญ้า ใต้ต้นไม้ใหญ่ คุยกันไป ถ่ายรูปไปก็สนุกได้บรรยากาศอีกแบบ
คุณทศ ไกด์นำทางจากบ้านหินลาดใน คุณโต จากร้านชาสวรรค์บนดิน และคุณชิงชิง จากไร่ชา101 ดอยแม่สลอง
ที่มาร่วมกิจกรรมให้ข้อมูลเกี่ยวกับชา และน้องๆชนเผ่าปกาเกอะญอ ที่มาทำหน้าที่เป็นแม่ครัวจัดเตรียมเรื่องอาหาร
ช่วงบ่าย ได้เดินทางไปชมกิจกรรม work shop การคั่วชาในหมู่บ้าน
การคั่วใบชาที่โรงคั่วในหมู่บ้าน ที่นี่ก็ไม่ได้มีเครื่องจักร ใช้เพียงเตาไฟตั้งกะทะให้ร้อนได้อุณภูมิที่ต้องการ ก็นำใบชาที่เก็บได้สดๆลงไปคั่วจนได้ที่ จากนั้นก็นำไปตากแดดจนแห้ง
ช่วงท้ายเป็นกิจกรรมเพิ่มความรู้เรื่องน้ำผึ้งป่า ฟังเรื่องเล่าน้ำผึ้งจากป่าบ้านหินลาดใน โดยพี่ทศ ก็ได้เอาน้ำผึ้งในหมู่บ้านมาให้ชิม แนะนำวิธีดูน้ำผึ้งแต่ละแบบ ความแตกต่างและคุณสมบัติน้ำผึ้งแท้ หรือปลอมเป็นยังไง และคุณประโยชน์ของน้ำผึ้งแต่ละชนิด จากที่ไม่เคยรู้เรื่องวัฏจักรวงจรชีวิตของผึ้งป่า การทำรัง การหากินของผึ้งแต่ละแบบ และการใช้ชีวิตร่วมกับป่าไม้ยังไงไม่ให้กระทบกับผึ้งและสัตว์ป่าอื่นๆของชาวบ้านที่นี่ เข้าร่วมกิจกรรมนี้แล้วได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยครับ
ที่หมู่บ้านหินลาดใน ยังมีอีกหลายมุมมองที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องของการทำเกษตรหมุนเวียนของชาวบ้านที่นี่ ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เป็นหมู่บ้านต้นแบบ หมู่บ้านแห่งความสุข ความพอเพียง ความผูกพันธ์ระหว่างคน น้ำ ป่า ในหลายๆด้านที่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุลมาหลายชั่วอายุคน อยากทำกิจกรรมที่เข้าถึงป่า ต้องมาที่นี่ "บ้านหินลาดใน"
ใครติดตามเรื่องนี้แล้วสนใจอยากเข้าไปในหมู่บ้านทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน
ติดต่อได้ที่ ททท.สำนักงานเชียงราย ได้เลยนะครับ เบอร์โทร 053-717433
และในวันที่ 26-28 กรฏาคม 2562 เป็นช่วงเดือนแห่งชาและกาแฟ จ.เชียงราย จะมีการจัด work shop ในไร่ชาและกาแฟ รูปแบบนี้อีกครั้ง
ที่บ้านห้วยหินลาดใน สนใจก็ติดต่อไปที่ ททท.สำนักงานเชียงราย ได้เลยครับ
กดรับชมคลิป การเดินทางของทริปนี้กันได้เลย