x
ขณะนี้เรากำลังไลฟ์ คลิกที่นี่เพื่อชม
 

ที่เที่ยว

เรื่องราวกระดาษสา หมู่บ้านปางห้า ท่องเที่ยวชุมชนเชียงรายแต้แต้

เที่ยวในเมืองรอง ในแบบฉบับของเชียงรายแต้แต้ อยากให้ลองมาใช้ชีวิตแบบช้าๆ ที่ หมู่บ้างปางห้า 


      ปัจจุบันการท่องเที่ยวชุมชนกำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยเก๋า เพราะนอกจากจะได้ทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน พักแบบโฮมสเตย์ที่ทำให้เกิดความเพลิดเพลินสนุกสนาน ย้อนวันวานในอดีต หวนคิดถึงวันเก่าๆ ยังเป็นการเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่แปลกใหม่สำหรับใครหลายคน


ที่หมู่บ้านปางห้า ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย เป็นหมู่บ้านที่อยู่เหนือสุดของประเทศไทย มีน้ำรวกกั้นชายแดนประเทศพม่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนที่น่าสนใจ มีที่พักเป็นโฮมสเตย์และกิจกรรมที่หลากหลาย สินค้ามากมาย และที่นี่ยังเป็นต้นแบบของการบริการจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนดีเด่น มีพี่น้องหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่รวมกัน เป็นชุมชนที่เข็มแข็งมาอย่างยาวนาน


มิราเคิล ออฟ สา  โรงงานกระดาษสาจินนาลักษณ์  เป็นแหล่งผลิตกระดาษสาที่เก่าแก่ อยู่ร่วมกับชุมชนนี้มายาวนานกว่า 20 ปี และยังคงใช้ใช้วิธีการทำกระดาษสาแบบดั้งเดิม จึงเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ ปัจจุบันได้เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาศึกษาดูงาน หรือทำกิจกรรม Workshop มีการสอนทำกระดาษสา  การเลือกซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือจะใช้เวลาสัก 1 คืน พักแบบโฮมสเตย์ที่นี่ก็ได้


นักท่องเที่ยวที่ได้มาเที่ยวหมู่บ้านปางห้า จะได้ทั้งความรู้ ความเพลิดเพลิน การอยู่กินแบบชาวบ้าน มีทั้งที่พัก ทำกิจกรรม และฐานการเรียนรู้ต่างๆ ตามความเหมาะสม เช่น การตีมีด การทำขนม นั่งรถอิต๊อกเที่ยวชมสวนผลไม้ ถ่ายรูปในมุมเก๋ๆ ชมการแสดงชนเผ่า  และเดี๋ยววันนี้จะพาไปชมกิจกรรมบางส่วนครับ ว่าที่โรงงานกระดาษสาจินนาลักษณ์ และในหมู่บ้านปางห้ามีอะไรน่าสนใจบ้าง


จุดแรกที่เมื่อมาถึงโรงงานกระดาษสาจินนาลักษณ์ จะเห็นเป็นอาคารไม้แบบโบราณ 2 ชั้น ดูจากสภาพอายุก็น่าจะอยู่มานานหลายสิบปี

ชั้นแรกเป็นส่วนของร้านกาแฟ ห้องถัดมาก็จะสปา มาร์คหน้า และผลิตภัณฑ์จากกระดาษสา สินค้าจากงานฝีมือของชาวบ้าน ส่วนชั้นบนเป็นห้องพักแบบโฮมสเตย์

   ถัดมา พาไปดูในส่วนของการสาธิตมาร์คหน้า และสปา ซึ่งต่อยอดจากกระดาษสา ที่คุณจินนาลักษณ์ ชุ่มมงคล เจ้าของกระดาษสาจินนาลักษณ์ ได้คิดค้นนวัตกรรม เครื่องสำอางค์ เพื่อมาร์คหน้าจากใยไหม ที่ได้จากการเลี้ยงตัวไหมในชุมชน แล้วให้ตัวไหมสร้างใยถักทอ ออกมาเป็นผืนแผ่น ผ่านกระบวนการ จนนำมาสู่การทำเป็นผลิตภัณฑ์มาร์คหน้า ได้สำเร็จ ภายใต้แบรนด์ CEILK  ที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง  ปลอดภัย ไร้ผลข้างเคียง จนนำไปสู่รับรางวัล นวัตกรรมดีเด่นจากหลายหน่วยงาน  เหมาะสำหรับสุภาพสตรี ใครอยากหน้านุ่ม หน้าเด้ง ต้องมาลองทำสปาที่นี่...

ถัดจากอาคารไม้ด้านหน้า ก็จะมาเจอส่วนท้ายของพื้นที่โรงงานกระดาษสา 

เป็นส่วนของสถานที่จัดนิทรรศการ หรือศึกษาดูงาน ผลงาน กระบวนการผลิตกระดาษสา และลานการแสดงขันโตก 

ถัดไปทางด้านหลัง เป็นศูนย์การเรียนรู้ วิธีการทำกระดาษสา ทั้งการรีไซเคิ้ล การทำกรอบรูป วาดลวดลายต่างๆบนกระดาษสา

 ซึ่งหากทำแล้วอยากนำกลับไปด้วย ที่นี่ก็ไม่หวง ทำเสร็จหากอยู่รอจนแห้งก็นำกลับบ้านได้เลย

หากจะลองทำกระดาษสา ต้องมีเวลาอย่างน้อยก็ต้องสัก 1 วัน เพราะขั้นตอนการทำ อาจจะต้องใช้เวลา แต่ครั้งนี้เรายังต้องไปชมแหล่งเรียนรู้อื่นๆ อย่างที่เกริ่นไปตอนต้น นอกจากที่นี่จะทำเป็นศูนย์เรียนรู้ในชุมชน ปัจจุบันยังเป็นชุนชนนำเที่ยว และที่นี่ก็เป็นศูนย์กลางที่จะพาเราไปเที่ยวยังจุดต่างๆในชุมชน


เรียนรู้เรื่องราวกระดาษสาเสร็จแล้ว เราเดินทางกันไป ฐานเรียนรู้การตีมีด 

    เป็นกิจกรรมสาธิต วิธีการตีมีดแบบโบราณ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้อีกอย่างในชุมชนแห่งนี้ ที่บ้านลุงดงแสง เมื่อก้าวเข้ามาในบ้านจะได้กลิ่นเผาจากเตาถ่านหน้าบ้าน พร้อมกับบรรยากาศโรงตีมีด มุงด้วยสังกะสีเก่าๆ แต่มีเรื่องเล่าถึงความหลัง และความทรงจำหลายอย่างอยู่ในนี้ ซึ่งเดิมทีคุณลุงเองก็มาจากสิบสองปันนา อยู่ที่บ้านปางห้าตั้งแต่สมัยเด็กๆ และยึดอาชีพการตีมีดมายาวนาน  โดยใช้เหล็กจากแหนบรถยนต์เก่า นำไปตัด ไปเผาในเตาถ่านให้เหล็กอ่อน ตีแผ่นเหล็กที่แดงร้อนด้วยฆ้อน ด้วยความแรงที่พอเหมาะ  จนกลายมาเป็นมีดในรูปแบบต่างๆ  ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมาหัดตีมีด เรียนรู้เรื่องของการทำมีดแบบต่างๆ จากคุณลุง นับได้ว่าเป็นปราชญ์เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่นับวันจะหาดูได้ยากแล้ว  ซึ่งลุงดงแสง ตีมีดได้ทุกรูปแบบ อยากได้มีดแบบไหน เดินป่า ในครัว มีดดาบ ลุงแกทำได้หมด  


ข้าวซอยน้อย  ความอร่อยที่ต้องมาชิมเอง


เป็นของแถมจากบ้านลุงดงแสง ที่ภรรยาของคุณลุง เขาจัดเมนูนี้มาให้ลองชิม ปัจจุบันหากินได้ยากแล้ว แต่ที่บ้านปางห้าแห่งนี้ยังพอมีให้เราได้หาลองชิมกันอยู่  เป็นอาหารไทยใหญ่ ดังนั้นคนที่จะทำได้อร่อยก็ต้องสืบทอดมาจากต้นตำหรับที่เป็นชาวไทใหญ่จริงๆ เมนูนี้จึงเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวสายกิน และข้าวซอยน้อย ของที่นี่เป็นการทำแบบดั้งเดิมด้วย  ไม่ได้ใช้แป้งมานึ่งเป็นแผ่น แต่จะนำเอาข้าวจ้าวไปแช่ไว้ก่อน 1 คืน และต้องเป็นข้าวจ้าวพม่าด้วย ( เพราะเมล็ดข้าวพม่ามีคุณสมบัติที่แข็งกว่าข้าวบ้านเรา ) แล้วเอาไปโม่หรือบดละเอียด นำไปเคี่ยว ไปตั้งไฟที่ความร้อนสม่ำเสมอ สุดท้ายก็เอาข้าวที่เคี่ยวได้ไปนึ่งจนสุด ตัดซอยเป็นคำๆ ใส่ถาดพร้อมเสริฟ เพิ่มสีสันโดยการใส่ฟักทอง ผักชี กินอุ่นๆกับน้ำจิ้มรสเด็ด รสชาติต้องลองมาชิมครับ ....  ถ้าทำง่ายขนาดนี้ คงเห็นมีวางขายกันทั่วไป อาจจะมีเคล็ดลับที่อยากให้นักท่องเที่ยวต้องมาสัมผัสเอง และที่ไปที่มาของชื่อข้าวซอยน้อย ไปถามมาแล้ว ได้ความหมายแบบตรงๆ เพราะถาดมันน้อย เรียกชื่อตามภาชนะนั่นแหละครับ ^-^  จากนั้นคณะก็นำพาเราไปชมสวนฝรั่งกิมจูของป้าลัดดา...

ไปดูสวนบ่าก้วยก๋า  (ฝรั่ง)

     ออกจากฐานเรียนรู้การตีมีด ก็ไปเที่ยวต่อกันที่สวนเกษตรอินทรีย์ ของคุณป้าลัดดา ที่ได้พลิกฟื้น พื้นที่เกษตร จากเดิมทำไร่ข้าวโพด หันมาทำสวนฝรั่งกิมจู บนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ ลองผิดลองถูกมานาน จนประสบความสำเร็จ ที่นี่เราจะได้เรียนรู้เรื่องของการทำเกษตรปลอดสารพิษ พืชผักปลอดภัย ทำกิจกรรมการเดินเก็บฝรั่งจากสวน การแปรรูปทำน้ำฝรั่งสด ดูเทคนิคการดูแลต้นฝรั่ง ด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ ปลูกยังไงให้เก็บได้ทั้งปี  ป้าลัดดาจะพูดให้ฟังทั้งหมด

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลบางส่่่่วนที่นักท่องเที่ยวจะต้องได้สัมผัส เมื่อมาเที่ยวที่ชุมชนบ้านปางห้า และยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีอีกหลากหลายกิจกรรม จะเอาให้ทั่วต้องใช้เวลาอยู่กับชุมชนนี้สัก 2-3 วัน ใช้ชีวิตช้าๆ ที่บ้านปางห้า เราเชื่อว่าจะเป็นการเปิดประสบการณ์ ท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ สำหรับพาวัยเก๋า ไปย้อนวันวาน ในหมู่บ้านชายแดนแห่งนี้


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 

ท่องเที่ยวชุมชนปางห้า โทร.064-6797470,081 883 9062    เปิดบริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย 053-717 433


และนี่ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งในโครงการ " ชวนก๊วนเก๋า ย้อนฝันสานแรงบันดานใจ " 

ที่ได้แนะนำให้ไปเที่ยวตามลิงค์ http://www.chiangraifocus.com/article/detail.php?id=62