วัดพระแก้ว เป็นจุดที่ค้นพบพระแก้วมรกต และเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตเป็นเวลา 45 ปี ก่อนที่จะเอิญไปยังเชียงใหม่ วันนี้แต่เดิมวัดนี้มีชื่อว่าวัดป่าเยี้ย หลังพระอุโบสถมีเจดีย์อยู่องค์หนึ่งซึ่งได้พังลงมาแล้วได้พบพระพุทธรูปลงรักปิดทององค์หนึ่งตกลงมาจากเจดีย์จึงได้อัญเชิญไปไว้วิหารหลวงได้ 2 เดือน ต่อมาปูนกระเทาะออกจึงเห็นเป็นแก้วสีเขียวทั้งองค์ หลังจากนั้นวัดนี้จึงเรียกสืบต่อกันมาว่า วัดพระแก้ว ปัจจุบันเจดีย์องค์ดังกล่าวได้รับการบูรณะใหม่เป็นเจดีย์หุ้มทองจังโก๋เหลืองอร่ามทั้งองค์
พระอุโบสถ์ ในวัดพระแก้วมีความงดงามมาก ในปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานของพระประธาน คนเชียงรายเรียกกันว่า "พระเจ้าล้านทอง" เป็นพระศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเชียงรายเคารพนับถือเป็นอันมาก แต่เดิมนั้นประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเจ้าล้านทอง ต่อมามีสภาพเป็นวัดร้างจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดดอยงำเมือง และได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดพระแก้วเมื่อปี 2504
พระแก้วหยก เป็นพระพุทธรูปหยกที่คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวเชียงรายร่วมกันสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระชนมายุครบ 90 พรรษา เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2533 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 20 ก.ย. พ.ศ. 2534 ชาวเชียงรายได้อัญเชิญมาประดิษฐานหอพระ ณ วัดพระแก้ว เรียกว่า พระหยกเชียงราย ปัจจุบัน วัดพระแก้วมีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ โดยได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521
การเดินทาง เมื่อถึงห้าแยกพ่อขุนเม็งรายกลางตัวเมืองเชียงรายให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสิงหไคล แล้วตรงเรื่อยๆ จนสุดทางสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 100 เมตร จะเห็นวัดพระแก้วอยู่ทางขวามือ
รูปภาพบรรยากาศบริเวณวัดพระแก้ว
เจดีย์วัดพระแก้ว
เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๗๗ ได้เกิดฟ้าผ่า ลงองค์พระเจดีย์พังทลายลง และได้พบพระแก้วมรกตซ่อนไว้ในพระเจดีย์หลังจากนั้นได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ เมืองต่างๆ คือ ลำปาง เชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ กรุงธนบุรี และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ กรมศลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระเจดีย์ เป็น โบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘
หน้าโฮงหลวงแสงแก้ว
อาคารทรงล้านนาประยุกต์ เริ่มสร้างเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยมีคุณอมรา (แสงแ้ก้ว) มุนิกานนท์ เป็นผู้อุปถัมภ์ ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญ รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในรูปแบบที่ทันสมัย
หอพระหยก
อาคารทรงล้านนาโบราณ เป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล" หรือ "พระหยกเชียงราย" บนผนังอาคาร แสดงกิจกรรม จากตำนานพระแก้วมรกต และภาพวาดการสร้าง และพิธีอัญเชิญพระหยกเชียงรายสู่พระอารามในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๔
ภาพอื่นๆของวัดพระแก้วติดตามได้ที่ลิงค์นี้ http://www.chiangraifocus.com/gallery/?id=17 |