เหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง
 

  ประวัติจังหวัดเชียงราย/เชียงรายในอดีต จาก เชียงรายโฟกัส ดอทคอม..
 
 
ประวัติความเป็นมา

จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกก เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ มีผู้คนเข้ามาตั้งหลักแหล่งอย่างไม่ขาดสายนับตั้งแต่สมัยต้นพุทธกาล หรือก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน ดังจะสรุป ประวัติศาสตร์ความเป็นมาโดยแบ่งเป็นสมัยต่าง ๆ ได้ ๔ สมัย คือ


สมัยชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์

บริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำกก เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของชนชาติไทยและอารยธรรมไทย ตั้งแต่ก่อนพ.ศ. ๑๘๐๐ ร่องรอยที่เป็นรูปธรรมของสังคมและอารยธรรมไทยลุ่มน้ำกก ได้แก่ ซากเมืองโบราณ ที่มีอยู่เกลื่อนกลาดบนสองฝั่งแม่น้ำกก เท่าที่ค้นพบในปัจจุบันมีซากเมืองโบราณถึง ๒๗ เมือง ตั้งแต่อำเภอฝางซึ่งเป็นต้นแม่น้ำกก จนถึงเมืองเชียงแสน นับเป็นพยานที่ดี ว่าได้มีชนชาติไทยชุมนุมกันตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณแม่น้ำกกอย่างหนาแน่น และได้ขยายตัวมีการสร้างบ้านแปงเมืองกันไม่ขาดสาย ศูนย์กลางทางการเมือง ของไทยแห่งลุ่มน้ำกกในยุคแรก ตั้งอยู่ที่ลำน้ำแม่สายซึ่งอยู่เหนือแม่น้ำกกขึ้นไปเล็กน้อย ตำนานสิงหนวัติจดบันทึกไว้ว่า ราชวงศ์กษัตริย์ไทเมือง ชื่อสิงหนวัติกุมาร อพยพคนไทย จากนครไทยเทศในยูนนาน ลงมาตั้งอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ ณ บริเวณละว้านที (แม่น้ำสาย) และแม่น้ำโขง ตั้งแต่ต้นพุทธกาลก่อนได้ชื่อว่าโยนก ตำนานสิงหนวัติได้กล่าวว่า บริเวณนี้เป็นดินแดนสุวรรณโคมคำแต่รกร้างไปแล้ว เมื่อสิงหนวัติกุมารนำไพร่บ้านพลเมืองมาจากนครไทยเทศ จึงมาสร้างเมืองขึ้นใหม่ชื่อว่า สิงหนวัตินคร ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น โยนกนครไชยบุรี ราชธานีศรีช้างแสน (ช้างแสนแปลว่าช้างร้อง) และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เชียงแสน และเรียกพลเมืองของโยนกนครว่า ชาวยวน ตำนานเงินยางเชียงแสน ได้กล่าวถึง ปู่เจ้าลาวจก เป็นผู้ตั้งอาณาจักรเงินยาง หรือ หิรัญนคร เมื่อ พ.ศ ๑๑๘๑ เป็นยุคที่สองต่อจาก โยนกนาคพันธุ์ ซึ่งล่มสลายไปแล้ว โดยตั้งศูนย์กลางอยู่ ณ บริเวณเดียวกับ โยนกนาคพันธุ์เดิม แต่ไพร่บ้านพลเมืองส่วนใหญ่อยู่กันหนาแน่นที่ปากแม่น้ำกกสบแม่น้ำโขง อาศัยน้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์ทำนา การปกครองบ้านเมืองก็ใช้พื้นที่ทำนา เป็นเกณฑ์ การแบ่ง เขตเช่นแบ่งเป็นพันนา หมื่นนา แสนนาและล้านนาเป็นต้น มีเมืองเชียงแสนเป็นเมืองสำคัญและมีเมืองเล็กเมืองน้อยที่เรียกว่าเวียง เกิดขึ้นตามบริเวณ ที่ราบลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ อีกมากมาย

 


สมัยสร้างบ้านแปงเมืองของราชวงศ์มังราย

ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ บริเวณลุ่มน้ำกก มีการ “สร้างบ้านแปลงเมือง” โดยพญามังราย (พ.ศ. ๑๗๘๑-๑๘๖๐) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย บุตรของพญาลาวเม็ง (ผู้ครองหิรัญนครเงินยาง) และพระนางเทพคำข่าย (เจ้าหญิงแห่งเมืองเชียงรุ้ง) ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทนพญาลาวเม็ง ที่เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสนในปี พ.ศ. ๑๘๐๒ และได้ทรงย้ายราชธานีจากเมืองหิรัญนครเงินยาง (ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเมืองเชียงแสน) มาสร้างราชธานีแห่งใหม่ที่ริมฝั่งแม่น้ำกก เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๕ และได้ขนานนามราชธานีแห่งนี้ว่า “เชียงราย” ซึ่งมีความหมายว่า “เมืองของพญามังราย” จากนั้นได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือญาติเชื้อสาย ลัวะ จักราช เช่นเมืองเชียงไร เมืองปง เมืองเวียงคำ เชียงเงิน เชียงช้าง เชียงของ ฯลฯ เข้ามาไว้ในอำนาจ รวมทั้งได้สร้าง เวียงฝางขึ้นมาในปี ๑๘๑๒ ต่อมาพระองค์ได้ขยายอำนาจสู่ดินแดนลุ่มแม่น้ำปิง สามารถยึดเมืองหริภุญชัย (ลพุน) ได้ในปี ๒๘๑๗ และได้เมืองอังวะพุกามในปี ๑๘๓๒ โดยได้นำเอาช่างจากพุกามมาไว้ที่เชียงแสนด้วยหลังจากนั้น พระองค์จึงย้ายราชธานีมายังบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง โดยสร้าง เมือง “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” เป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ และครองราชย์อยู่ที่เชียงใหม่ตลอด โดยให้ขุนคราม ราชโอรสไปครองเมืองเชียงรายแทน เชียงรายจึงกลาย สภาพเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่ ภายหลังการย้ายราชธานีของพญามังราย เชียงรายก็ถูกเปลี่ยนเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราชและในระยะต่อมาบทบาทเมืองเชียงราย ก็ถูกริดรอนลง เมื่อเชียงใหม่เกิดสงครามกลางเมืองแย่งชิงอำนาจกันเอง อาณาจักรล้านนาก็เริ่มเสื่อมและเสียเอกราชให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๑ เมือง เชียงรายจึงตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของพม่านานถึง ๒๐๐ ปีโดยในระหว่างที่พม่าเข้ามามีอำนาจนั้นพม่าได้ฟื้นฟูเมืองเชียงแสนเป็นเมืองสำคัญในการปกครองของหัวเมืองเหนือ


สมัยเป็นเมืองบริวารต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี อาณาจักรไทยได้ทำสงครามกับพม่าหลายครั้ง จนบรรดาผู้นำของคนไทยตอนเหนือ เช่น พญาจ่าบ้าน พญากาวิละ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทำการต่อสู้กับพม่าที่เรียกว่า “ฟื้นม่าน” เพื่อช่วยขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาไทย แต่ก็ยังไม่สำเร็จ ต่อมาพญากาวิละ เป็นผู้มีบทบาท มากในการเกลี้ยกล่อมให้บรรดาเมืองต่าง ๆ ในล้านนาร่วมมือกันต่อสู้พม่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเห็นความสำคัญของอาณาจักรล้านนาไทย จึงทรง สนับสนุนให้ทัพมาช่วย และโปรดเกล้าสถาปนาเชียงใหม่ขึ้นเป็นประเทศราช และแต่งตั้งให้พญากาวิละเป็นพระเจ้ากาวิละ ครองเมืองเชียงใหม่ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๔๗ พระเจ้ากาวิละ ได้ยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนและกวาดต้อนผู้คนบริเวณเมืองต่าง ๆ ออกไปทั้งหมด ทำให้เมืองต่าง ๆ รวมทั้งเมืองเชียงรายกลายเป็นเมืองร้าง ในปี พ.ศ. ๒๓๘๖ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมืองเชียงรายได้รับการฟื้นฟูบูรณะขึ้นอีกครั้ง มีฐานะเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่ โดยมีเจ้าหลวงธรรมลังกา เป็นเจ้าเมืององค์แรก และนับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นต้นมา การปกครองเมืองเชียงราย ในฐานะเป็นเมืองบริวารของเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วยเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ที่เรียกว่า “เจ้าขัน ๕ ใบ” เป็นคณะปกครองเมืองเชียงราย ประกอบด้วย เจ้าหลวง พระยาอุปราช พระยาราชวงศ์ พระยาราชบุตร และพระยาบุรีรัตน์ เป็นผู้ปกครอง นอกจากนี้ยังมี “เค้าสนามหลวง” ประกอบด้วยเจ้านายขุนนางชั้นสูง ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง และ เมืองเชียงราย มีเจ้าหลวง และเจ้านายบุตรหลานเชื้อสายราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนปกครอง เป็นระยะเวลานานถึง ๖๐ ปี (พ.ศ. ๒๓๘๖-๒๔๔๖) จนมีการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ในสมัยรัชกาลที่ ๕


สมัยการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล

สมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินนโยบายสร้างความเป็นเอกภาพทางการเมือง โดยค่อย ๆ ริดรอนอำนาจของเจ้าผู้ครองนคร พยายามไม่ให้ เกิดความขัดแย้งในการดึงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๗ จนถึง ๒๔๔๒ ได้ประกาศจัดตั้งมณฑลพายัพ และเป็นการยกเลิกหัวเมืองประเทศราชล้านนาไทย ทำให้ ล้านนาไทยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอย่างแท้จริง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๕๓ รัฐบาลได้ส่งข้าหลวงคือ พ.ต. หลวงภูวนาทนฤบาล มาดูแลเมืองเชียงราย โดยให้รวมเมือง เชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา แม่ใจ ดอกคำใต้ แม่สรวย เชียงคำ เชียงของ ตั้งเป็นหัวเมืองจัตวา เรียกว่า “เมืองเชียงราย” อยู่ในมณฑลพายัพ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีการยกเลิกการปกครอง แบบมณฑลเทศาภิบาลเมืองเชียงรายจึงมีฐานะเป็นจังหวัด โดยเมืองฝางถูกแยกเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๐ อำเภอพะเยาพร้อมกับอีก ๖ อำเภอบริวาร จึงถูกยกฐานะเป็นจังหวัดพะเยา ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายแบ่งการปกครองออกเป็น ๑๘ อำเภอ

ข้อมูลจาก สนง.วัฒนธรรม จ.เชียงรา
เชียงรายในอดีต (อาณาจักรต่างๆ)
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของบางยุคบางสมัยในดินแดนเหล่านี้ บางครั้งก็มีความคลาดเคลื่อนกันไปทั้งทางด้านสถานที่หรือด้านของเวลา จึงยากที่จะชี้ชัดลงไปอย่างชัดเจนว่า หลักฐานใดถูกต้อง สำหรับอาณาจักรโบราณและเมืองต่างๆ อันเป็นที่ตั้งของจังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน ที่ปรากฏในตำนานหรือพงศาวดารและหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น นักวิชาการในท้องถิ่นได้แบ่งประวัติเชียงรายออกเป็นยุคต่างๆ ดังนี้

1. ยุคอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน
2. ยุคหิรัญนครเงินยาง
3. ยุคเชียงราย (มังราย)
4. ยุคพันธุมติรัตนอาณาเขต

1. ยุคอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน

เรื่องราวของอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน (ช้างแส่งก็เรียก) ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองโยนกนคร
ราชธานีศรีช้างแสน หรือเมืองนาคพันธุ์สิงหนวัตินครนั้น เป็นเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนกได้กล่าวถึง
มหากษัตริย์องค์หนึ่ง ชื่อว่า เทวกาละ ครองราชย์สมบัติเป็นใหญ่แก่ไทยทั้งหลายในเมืองนครไทยเทศ อันมีเมือง
ราชคหะ (ราชคฤห์) เป็นนครหลวงมหากษัตริย์พระองค์นั้นมีราชโอรส 30 พระองค์ ราชธิดา 30 พระองค์ รวมทั้งหมด 60 พระองค์ ราชโอรสองค์แรกมีพระนามว่า พิมพิสารราชกุมาร องค์ที่สองมีพระนามว่า สิงหนวัติกุมาร
(บางตำราเป็นสิงหนติกุมาร และเพี้ยนไปเป็น สีหนติกุมาร หรือศรีหนติกุมาร ก็มี) ด้วยเหตุว่ามีลักษณะและกำลังดุจราชสีห์นั่นเอง
เมื่อนั้น มหากษัตริย์ผู้เป็นพ่อได้แบ่งราชสมบัติให้แก่ราชโอรสและธิดาทั้ง 60 พระองค์แล้ว
ได้แต่งตั้งให้เจ้าพิมพิสารโอรสองค์แรกเป็นอุปราชา และให้อภิเษกสมรสกับพระราชธิดาผู้หนึ่งให้อยู่ในเมืองราชคฤห์นครหลวง ส่วนโอรสและราชธิดา 29 คู่นั้น ให้จับคู่กันแล้วแยกย้ายออกไปตั้งบ้านเมืองอยู่ตามที่ต่างๆ

ส่วนเจ้าสิงหนวัติกุมารโอรสที่สองกับน้องหญิงผู้หนึ่งได้แบ่งเอาราชสมบัติพร้อมไพร่พลแสนหนึ่งแล้วก็เสด็จออกจากเมืองราชคฤห์นครหลวง ข้ามแม่น้ำสระพูมุ่งหน้าไปทางทิศอาคเนย์ออกจากเมืองราชคฤห์ได้ 4 เดือน “พอถึงเดือน 5 ออก 11 ค่ำ วันศุกร์ ก็จึงได้ไปถึงประเทศที่หนึ่งมีสัณฐานราบเปียงเรียงงาม มีแม่น้ำใหญ่ น้ำฮาม น้ำน้อยมากนัก ก็บ่อพอไกลขรนที (แม่น้ำโขง) เท่าใดนัก แลมีน้ำห้วยน้อยอันจักสร้างไร่นาดีนักแลเป็นแว่นแคว้นเมืองสุวรรณโคมคำเก่าอันร้างไปแล้วนั้น ในกาลนั้น มีแต่พวกลัวะ มิละขุ คือ ชาวป่าชาวดอยทั้งหลาย ยังอยู่ในซอกห้วยราวเขาภูดอยไคว่จุที่แล้ว และมีขุนหลวงผู้หนึ่ง นามว่า ปู่เจ้าลาวจก เป็นใหญ่แก่มิละขุทั้งหลายก็ยังอยู่
ดอยดินแดงอันมีหนประจิมทิศประเทศนั้น แลยามนั้นสิงหนวัติกุมารก็มารอดถึงที่หนึ่งหมดใสกว้างนัก บ่ไกลแม่น้ำใหญ่ แม่น้ำฮาม แม่น้ำน้อยมากแล แลห่างจากแม่น้ำขรนทีนั้น 7,000 วา แลเมืองสุวรรณโคมคำเก่านั้น อยู่เบื้องฝ่ายแม่น้ำขรนทีก้ำหน้านั้นและ ในตำนานนั้นได้กล่าวอีกว่า “เมื่อนั้นท่านก็ให้แปงปางจอดยั้งเอาชัยอยู่ที่นั้นรอดเดือนสี่ ขึ้นหนึ่งค่ำ
วันศุกร์ มหาศักราชขึ้นใหม่แถมตัวหนึ่งเป็น 18 ตัวปีล้วงเป้า วันนั้นยังมีพญานาคตัวหนึ่ง มีชื่อว่า “พันธุนาคราช”
ก็มาเนรมิตตนเป็นพราหมณ์ผู้หนึ่ง แล้วเข้ามาสู่ที่แห่งเจ้าสิงหนวัติกุมาร แล้วกล่าวว่า “ดูกรเจ้ากุมารท่านนี้ เป็นลูกท้าวพระยามหากษัตริย์ หรือว่าเป็นลูกเศรษฐีหรือคหบดี กระฎุมพี แลว่าพ่อค้า อั้นจา ลูกบ้านใดเมืองใดมานั้นจากแลเจ้ากุมารเห็นว่ามีประโยชน์อันใดจา จึงมายั้งพักยังสถานที่นี้ ว่าอั้น ว่าดังนี้ เมื่อนั้นเจ้าสิงหนุวัติกุมาร กล่าวว่าดูกรท่านพราหมณ์ เรานี้หากเป็นลูกกษัตริย์ตนหนึ่ง ชื่อว่าเทวกาละ ผู้เป็นเจ้าแผ่นดินเมืองราชคฤห์นครหลวงพุ้นแล เรามานี่เพื่อจักแสวงหาที่ควรสร้างบ้านตั้งเมืองอยู่แล ว่าอั้น เมื่อนั้น นาคพราหมณ์ก็ว่า ดีแท้แล ท่านจุ่งมาตั้งที่นี้ให้เป็นบ้านเมืองอยู่เทอะ จักวุฒิจำเริญดี จักบริบูรณ์ด้วยข้าวของราชสมบัติประการหนึ่ง ข้าศึกศัตรูทั้งหลาย
เป็นต้นว่าศึกมหานครเมืองใหญ่ทั้งหลาย จักมารบก็เป็นอันยากเหตุว่าแม่น้ำใหญ่ สะเภาเลากาจักมาก็ไม่ถึง แต่ว่าขอให้มีสัจจะรักษายังข้าคนและสัตว์ทั้งหลายแด่เทอะ”

เมื่อนั้น เจ้าสิงหนวัติกุมารจึงกล่าวว่า “ดูกร ท่านพราหมณ์ ท่านนี้อยู่ที่ใด อยู่บ้านเมืองใด และ
มีชื่อว่าดังฤา” นาคพราหมณ์ก็กล่าวว่า “ข้านี้มีชื่อว่าพันธุพราหมณ์ อยู่รักษาประเทศที่นี่มาตั้งแต่ตระกูลเค้ามาแล” ท่านจุ่งใช้สัปปรุริสะแห่งท่านไปตามดูที่อยู่แห่งข้าเทอะ ว่าอั้น” แล้วก็กล่าวอำลาเจ้าสิงหนวัติกุมารออกไปแล
เจ้าสิงหนวัติกุมารจึงใช้ให้บ่าวแห่งท่านตามไปดู 7 คน ไปทางหนหรดี ไกลประมาณ 1,000 วา แล้วก็ลวดหายไปเสียแล เมื่อนั้นบ่าวทั้ง 7 คน จึงกลับคืนมาบอกแก่เจ้าแห่งเขา ตามดั่งที่ได้เห็นมานั้นทุกประการแล เจ้าสิงหนวัติกุมารได้ยินคำดังนั้นก็สลั่งใจอยู่แล ส่วนว่านาคพราหมณ์ผู้นั้นก็เอาเพศเป็นพญานาคดังเก่าแล้วก็ทวนบุ่นไปให้เป็นเซตคูเวียง กว้าง 3,000 วา รอดชุกล้ำ แล้วก็หนีไปสู่ที่อยู่แห่งตนในกลางคืนนั้นแล ครั้นรุ่งแจ้งแล้ว เจ้าสิงหนวัติกุมารเห็นเป็นประการฉันนั้นแล้ว ก็มีใจชื่นชมยิ่งนัก จึงให้หาพราหมณ์อาจารย์มา แล้วก็ตรัสถามว่า “พราหมณ์
ผู้มาบอำให้แก่เรานั้น จักเป็นเทวบุตร เทวดาพระยาอินทร์พรหมดังฤา พราหมณ์อาจารย์จึงกล่าวว่า ตามดั่งข้าผู้เฒ่ามาพิจารณาดูนี้ คงจะเป็นพญานาคเป็นแน่แท้ เมื่อนั้นก็พร้อมกันเข้ายังเรือนหลวง แล้งตึ้งหอเรือนบริบูรณ์แล้วก็เข้าอยู่เป็นเมืองใหญ่ แล้วพราหมณ์อาจารย์ผู้นั้นก็พิจารณาเอาชื่อพญานาคพันธุ์นั้น กับชื่อกุมารผู้เป็นเจ้านั้นชื่อ สิงหนวัตินั้นมาผสมกัน แล้วเรียกนามเมืองนั้นว่า เมืองพันธุสิงหนวัตินคร นั้นแล

เมื่อเจ้าสิงหนวัติกุมารได้เป็นเจ้าเมืองพันธุสิงหนวัตินครแล้ว ได้มีอาชญาเรียกว่าเอาขุนหลวงมิลักขุทั้งหลาย ให้เข้ามาสู่สมภารแห่งพระองค์นั่นแล แต่นั้นไปภายหน้าได้ 3 ปี ยังมีเมืองอันหนึ่งอยู่หนหรดีไกลประมาณ 4 คืนทาง มีข้างหัวกุกกะนที (แม่น้ำกก) ที่นั่น ชื่อว่า เมืองอุมงคเสลานคร เมืองนั้นเป็นที่อยู่ของชาวขอมทั้งหลาย และส่วนว่าเมืองขอมนี้ก็เป็นเมืองพร้อมกันกับเมืองสุวรรณโคมคำ แต่ครั้งสมัยศาสนาพระกัสสปะและยังไม่เคยเป็นเมืองร้างเลย พระยาขอมเจ้าเมืองอุมงคเสลานครนั้น มีมานะกระด้างไม่ยอมเข้าสู่บรมโพธิสมภารเจ้าสิงหนวัติ พระองค์จึงยกกำลังรี้พลไปรบเอาเมืองอุมงคเสลานครได้เข้าสู่บรมโพธิสมภารแต่นั้นมา มหาศักราชได้ 22 ตัว
ปีดังไส้ ตั้งเมืองพันธุสิงหนวัตินครได้ 5 ปี ถึงปีนั้นท่านก็ปราบได้ล้านนาไทยทั้งมวลและ

เสนาอำมาตย์ พราหมณ์อาจารย์ ไร่ไทยทั้งหลาย ก็พร้อมใจกันราชิเษกยังเจ้าสิงหนวัติราชกุมารขึ้นเป็นเอกราชมหากษัตริย์ตั้งแต่นั้นมา และเมืองนี้ก็บริบูรณ์ด้วยผู้คน ช้างมาวัวควายสมบัติมากนัก เกิดเป็นเมืองใหญ่แต่นั้นมา มีอาณาเขตดังนี้
ในทิศบูรพา มีแม่น้ำขรนทีเป็นแดน
ในทิศปัจฉิม มีดอยรูปช้างชุนน้ำย้อยมาหาแม่คงเป็นแดน
ในทิศอุดร มีต่าง (เขื่อน) หนองแสเป็นแดน
ในทิศทักษิณ มีลวะรัฐเป็นแดน

บ้านเมืองก็มีความสงบสุขร่มเย็นตลอดสมัยของพระเจ้าสิงหนวัติ พระองค์ครองราชย์สมบัติได้ 102 ปี มีอายุได้ 120 ปี (บางตำนานก็ว่าครองราชย์ได้ 52 ปี) ในภายหลังอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน ที่มี
เมืองพันธุสิงหนวัตินครเป็นเมืองหลวงนั้น ตำนานได้กล่าวไว้ว่า ได้มีกษัตริย์ปกครองสืบเนื่องต่อกันมาประมาณกว่า 40 พระองค์ ซึ่งบางพระองค์ก็จะปรากฏพระนามในตำนานของการสร้างเมืองใหม่ หรือโบราณสถานที่ยังคงมีมาอยู่จนถึงยุคปัจจุบัน ได้แก่ พระเจ้าอชุตราช กษัตริย์องค์ที่ 3 เป็นผู้สร้างพระธาตุเจ้าดอยตุง โอรสองค์ที่สองของ
พระเจ้ามังรายนราช กษัตริย์องค์ที่ 4 คือ พระองค์ไชยนารายณ์ เป็นผู้สร้างเวียงไชยนารายณ์ พระองค์เว่าหรือพระองค์เวา กษัตริย์องค์ที่ 10 เป็นผู้สร้างพระธาตุดอยเวา อำเภอแม่สาย เป็นต้น


รายนามกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรโยนกไชยบุรีศรีช้างแสน (จากพงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร)

อาณาจักรโยนก ได้มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาจนสมัยพระองค์มหาไชยชนะ อาณาจักรจึงได้ถึง
กาลล่มจม ดังปรากฏในตำนานสิงหนวัติที่กล่าวว่า ได้มีชาวเมืองไปได้ปลาไหลเผือก พระองค์จึงให้ตัดเป็นท่อนแจกกันกินทั่วทั้งเวียง และในคืนนั้นก็ได้เกิดมีเหตุเสียงดังสนั่นเหมือนกับแผ่นดินไหวถึงสามครั้ง จนเป็นเหตุให้เมืองโยนกถล่มกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ยังคงเหลือบ้านของหญิงหม้ายคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้รับส่วนแบ่งเนื้อปลานั้นจากชาวเมืองไปบริโภค ในปัจจุบันหนองน้ำดังกล่าวจึงได้มีผู้สันนิษฐานไปต่างๆ กัน บ้างก็สันนิษฐานว่าคือทะเลสาบเชียงแสน (หนองบงกาย) ในเขตอำเภอเชียงแสน บ้างก็ว่าคือเวียงหนองล่ม (เวียงหนองหรือเมืองหนองก็ว่า) ในเขตอำเภอแม่จัน เนื่องจากมีชื่อสถานที่ต่างๆ ได้ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้อยู่ใกล้เคียงบริเวณนั้น เช่น บ้านแม่ลาก ก็หมายถึงตอนที่ชาวเมืองได้ช่วยกันลากปลาไหลตัวนั้น บ้านแม่ลัว (คงเลือนมาจากคำว่าคัว) ก็หมายถึงตอนที่ได้ชำแหละปลาไหลนั้นเพื่อแจกจ่ายกัน แม่น้ำกก หมายถึงตัดเป็นชิ้นๆ ซึ่งชื่อดังกล่าวนี้ปัจจุบันมีอยู่ในท้องที่ของอำเภอท่าข้าวเปลือก อำเภอแม่จัน และยังมีผู้สันนิษฐานว่า คือ หนองหลวง ในเขตอำเภอเวียงชัยอีกด้วย
หลังจากที่อาณาจักรโยนกได้ล่มสลายพร้อมด้วยราชวงศ์ดังกล่าวแล้ว ชาวเมือง จึงได้ปรึกษากันพร้อมใจกันยกให้ขุนลัง ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาเป็นผู้ปกครองแทนราชวงศ์ ว่ากันว่าเป็นต้นแบบของประชาธิปไตย เนื่องจากผู้นำได้มาจากการประชุมปรึกษาหารือกันคล้ายระบบการเลือกตั้ง จึงเป็นที่มาของชื่อ เวียงปรึกษา
เวียงปรึกษาได้มีผู้ปกครองสืบต่อกันมา 15 คน เป็นระยะเวลา 93 ปี

 

2. ยุคหิรัญนครเงินยาง
ในยุคนี้ได้กล่าวถึงลวจังกราชหรือลวจักกราช ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์นี้ ซึ่งในหลักฐานบางฉบับ
เรียกว่า ราชวงศ์ลาว เนื่องจากพระนามของกษัตริย์ในราชวงศ์นี้ล้วนขึ้นต้นด้วยคำว่า “ลาว” มีอำนาจอยู่ในเมืองเชียงลาว (เชียงเรือน) สันนิษฐานว่าอยู่ใกล้บริเวณดอยตุงและแม่น้ำสาย ต่อมาได้ขยายจากเมืองเชียงลาวมาสู่เมืองเงินยางหรือเงินยัง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง สันนิษฐานว่าเมืองเงินยางนี้อยู่ใกล้กับเมืองเชียงแสน หรืออาจเป็นบริเวณเดียวกันก็เป็นได้ เมืองเงินยางมีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “หิรัญนคร” อันเป็นที่มาและเรียกชื่อเมืองนี้ว่าหิรัญนครเงินยาง

ลวจังกราช (ลาวจง) มีราชบุตร 3 พระองค์ คือ ลาวครอบ ลาวช้าง และลาวเก๊าแก้วมาเมือง
ลวจังกราชได้ส่งราชบุตรออกไปสร้างบ้านแปงเมือง คือ ให้ลาวครอบราชบุตรองค์โตไปครองเมืองเชียงของ ลาวช้าง
ราชบุตรองค์ที่สองไปครองเมืองยอง ส่วนลาวเก๊าแก้วมาเมืองราชบุตรองค์เล็กนี้ให้ครองเมืองเชียงลาวสืบเนื่องมาด้วยเหตุนี้ภายหลังจึงทำให้ราชวงศ์ลาว (ลวจังกราช) เป็นต้นของราชวงศ์เมืองต่างๆ เช่น พะเยา เชียงของ เชียงคำ จนถึงสมัยพญามังราย ได้สร้างเมืองเชียงรายแล้ว พบว่าเจ้าเมืองต่างๆ ได้มีเชื้อสายมาจากวงศ์ลวจังกราชด้วยกัน จึงมีพระราโชบายรวบรวมให้เป็นปึกแผ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

รายนามกษัตริย์ราชวงษ์ลาว (ลวจังกราช หรือวงษ์หิรัญนคร)

ลาวจงมีราชบุตร 2 พระองค์ องค์พี่ชื่อ ลาวชิน ได้ให้ปกครองเมืองไชยนารายณ์ ส่วนผู้น้องชื่อจอมผาเรืองนั้น ให้ครองเมืองเชียงลาวต่อมา จอมผาเรือง (ลาวจอมเรือง) มีราชบุตรชื่อ ลาวเจื่อง (ขุนเจื่อง) ลาวเจื่องได้ครองเมืองเชียงลาวอยู่ระยะหนึ่ง และได้แผ่ขยายอาณาเขตไปถึงเมืองของพระยาแก๋ว แล้วได้อยู่ครองหลายเมือง ส่วนทางเมืองเงินยาง (เชียงลาว) นั้น ได้ให้ลาวเงินเรืองราชบุตรปกครองแทน และในสมัยของลาวเจื่องนี้ได้ให้ราชบุตรอีกหลายพระองค์ไปครองยังเมืองต่างๆ เช่น เมืองล้านช้าง เมืองน่าน เป็นต้น อันเป็นการกระจายราชวงศ์ลาว (ลวจังกราช) ไปยังหัวเมืองต่างๆ อีกสมัยหนึ่ง
มาจนถึงสมัยลาวเมง ลาวเมือง พระบิดาได้สู่ขอนางอั้วมิ่งจอมเมืองหรือนางเทพคำขยาย ธิดา
ท้าวรุ้งแก่นชาย เจ้านครเชียงรุ้ง เมืองใหญ่แว่นแคว้นสิบสองปันนา มาอภิเษกเป็นชายาเจ้าลาวเมง ครั้งภายหลังอภิเษกแล้วไม่นานเท่าใด นางเทพคำขยายก็ทรงมีครรภ์แล้วประสูติพระราชโอรส เมื่อ พ.ศ.1782 ทรงพระนามว่า “เจ้ามังราย”

จะเห็นได้ว่าอาณาจักรหิรัญนครเงินยาง (เชียงลาว หรือเชียงเรือง หรือหิรัญนครเงินยาง
เชียงแสนก็เรียก) นั้น เคยมีความรุ่งเรืองมาก่อน มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ได้มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันในราชวงศ์ลวจังกราชมาหลายพระองค์ มาจนถึงสมัยพญามังราย จึงได้มีการสร้างเมืองใหญ่ขึ้นที่เชียงราย และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้เริ่มมีความชัดเจนขึ้น นับแต่การสร้างเมืองเชียงรายเป็นต้นมา

 

3. ยุคเชียงราย (มังราย)
พญามังราย ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติที่เมืองหิรัญนครเงินยาง เมื่อ พ.ศ. 1802 ในขณะมีพระชนม์ได้ 20 ปี พระองค์จึงได้ให้พระยามหานครทั้งหลายไปถวายบังคม เมืองใดขัดแข็งมิยอมอ่อนน้อมแต่โดยดีก็แต่งกองทัพยกออกไปปราบปราม ตีได้เมืองมอบ เมืองไร เมืองเชียงคำ ได้ปลดเจ้าผู้ครองนครออกแล้วแต่งตั้งให้ขุนนางอยู่รั้งเมืองเหล่านั้น แต่นั้นหัวเมืองทั้งหลาย มีเมืองเชียงช้าง เป็นต้น ก็พากันอ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้น
เมื่อรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือได้แล้ว คิดจะปราบหัวเมืองฝ่ายใต้ จึงได้ลงไปอยู่ที่เมืองหนึ่ง ชื่อเมืองว่า เวียงเต่ารอง เผอิญช้างมงคลของพญามังรายได้พลัดไป พญามังรายเสด็จตามช้างไปถึงยอดจอมทอง ริมแม่น้ำกก
เห็นภูมิประเทศที่เป็นชัยภูมิดี จึงให้สร้างพระนครไว้ ณ ที่นั้นก่อปราการโอบล้อมเอาดอยจอมทองไว้ในท่ามกลางเมือง ขนานนามว่า เมืองเชียงราย ใน พ.ศ. 1805 แล้วพญามังรายก็ยกจากเมืองหิรัญนครเงินยางขึ้นมาประทับอยู่ที่เมืองเชียงรายในปีเดียวกันนี้ยังได้ตีเมืองเชียงตุงอีกด้วย ถัดมาอีก 3 ปี พญามังรายได้เสด็จจากเมืองเชียงรายไปประทับอยู่ที่เมืองฝาง (เวียงไชยปราการ) โดยมีพระราชประสงค์ที่จะแผ่ขยายอาณาเขตไปทางล้านนา หลังจากนั้น 1 ปี
ก็ได้ยกทัพไปตีเมืองผาแดง เชียงของ ตีได้เมืองเชียงของแล้วก็กลับประทับที่เมืองฝางอีก ต่อมาราว 6 ปี ได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองเชิงแล้วกลับมาประทับ ณ เมืองฝางดังเก่า
เมืองฝางที่พญามังรายประทับอยู่ติดต่อกับแคว้นล้านนาพ่อค้าวานิชชาวเมืองหริภุญไชย ไปมาที่เมืองฝางเป็นอันมาก พญามังรายทราบว่าเมืองหริภุญไชยเป็นเมืองมั่งคั่งสมบูรณ์ ก็อยากได้ไว้ในอำนาจ จึงทรงให้อ้ายฟ้า เข้าไปเป็นไส้ศึกอยู่ในเมืองหริภุญไชย แล้วจึงสามารถตีเมืองหริภุญไชยจากพระยายีบาได้ในเวลาต่อมา รวมทั้งตีได้เมืองเขลางค์จากพระยาเบิก เจ้าเมืองเขลางค์ ซึ่งเป็นน้องของพระยายีบาในภายหลังอีกด้วย

ในปี พ.ศ. 1819 พญามังรายได้ยกกองทัพลงไปตีเมืองพะเยา พระยางำเมือง เจ้าเมืองพะเยา เห็นว่าสู้ด้วยกำลังมิได้ จึงยกกองทัพออกไปรับปลายแดน ต้อนรับอย่างไมตรี แล้วยกตำบลปากน้ำให้แก่พญามังราย พญามังรายก็รับปฏิญาณเป็นมิตรกัน ต่อมาได้ยกทัพไปตีเมืองหงสาวดี พระยาหงสาวดีสุทธโสม เจ้าเมือง จึงได้ยกนางปายโค พระธิดาให้เป็นราชธิดา เพื่อจะเป็นพระราชไมตรี ในภายหลังได้ยกกองทัพไปตีเมืองพุกามอังวะ เจ้าเมืองอังวะ
ได้นำเอาเครื่องราชบรรณาการมาถวายต้อนรับขอพระราชไมตรีด้วย ในครั้งนี้ได้นำเอาช่างต่างๆ เช่น ช่างฆ้อง ช่างเหล็ก ช่างเงิน ช่างคำ ช่างทอง กลับมาเผยแพร่อีกด้วย พร้อมทั้งได้บำรุงพระพุทธศาสนา โดยได้รับอิทธิพลตามแบบอย่างของอังวะ
ในปี พ.ศ. 1839 พญามังรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ และขนานนามเมืองว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” พระองค์ได้เสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ตราบจนสวรรคต ขณะเสด็จประพาสกลางเมือง เมื่อ
พ.ศ. 1860 ส่วนเมืองเชียงรายนั้นได้ให้ขุนครามมาครองเมืองแทน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เมืองเชียงรายเริ่มลดบทบาทลง และในขณะเดียวกัน เมืองเชียงใหม่ก็ได้เริ่มมีความสำคัญในฐานะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงและรุ่งเรืองอย่างสูงสุดในสมัยของพญามังราย

เมื่อพญามังรายสวรรคต พระยาไชยสงคราม (ขุนคราม) ราชโอรส จึงครองเมืองเชียงรายต่อมา
และสถาปนาให้พระยาแสนภู โอรสองค์ใหญ่ไปครองเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 1861 ใน พ.ศ. 1870 พระยาแสนภู
โอรสองค์ใหญ่ไปครองเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 1861 ใน พ.ศ. 1870 พระยาไชยสงครามถึงแก่ทิวงคต พระยาแสนภูได้ให้เจ้าคำฟูราชโอรสไปครองเมืองเชียงใหม่ แล้วพระองค์ได้กลับมาครองเมืองเชียงราย
รุ่งขึ้นปี พ.ศ. 1871 พระยาแสนภู มีพระราชประสงค์จะสร้างพระนครอยู่ใหม่ต้องการชัยภูมิที่ดี
ขุนนางได้สำรวจหาได้ที่เมืองเก่าริมแม่น้ำโขง อันเป็นเมืองโบราณของเวียงไชยบุรี จึงโปรดให้สร้างนครใหม่ขึ้นที่นั้น
เอาแม่น้ำโขงเป็นคูปราการเมืองด้านตะวันออก อีก 3 ด้าน ให้ขุดโอบล้อมพระนครไว้ ตั้งพิธีฝังหลักเมืองวันศุกร์ เดือน 5 (เดือน 7 เหนือ) ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 1871 ขนานนามว่า หิรัญนครชัยบุรีศรีเชียงแสน (ตามพระนามของพระองค์) แต่คนต่อมาภายหลังเรียกว่า เชียงแสน คืออำเภอเชียงแสนในปัจจุบัน ซึ่งยังมีซากกำแพงเมืองปรากฏอยู่
พระยาแสนภู ครองอยู่เมืองเชียงแสนได้ 7 ปี ก็ได้ถึงแก่ทิวงคต พระยาคำฟู ราชโอรส จึงได้ครองเมืองเชียงแสนต่อมา พระยาคำฟูจึงได้ให้ท้าวผายูราชโอรสไปครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อพระยาคำฟูถึงแก่ทิวงคต ท้าวผายูราชโอรส ซึ่งครองเมืองเชียงใหม่อยู่ก็ได้ครองเมืองเชียงใหม่ต่อไป แล้วให้ท้าวกือนา (ตื้อนา) ราชโอรส มาครองเมืองเชียงรายแทน นับแต่นั้นมาเมืองเชียงราย (รวมทั้งเชียงแสนด้วย) ได้เริ่มมีฐานะคล้ายเมืองลูกหลวง โดยมีเชียงใหม่เป็นเมืองหลวง แต่ก็ยังคงมีเชื้อพระวงศ์ปกครองสืบต่อกันมาอีกหลายพระองค์ สุดท้ายในสมัยพระยากลม เป็นเจ้าเมืองเชียงแสน โดยมีพระเจ้าเมกุฏครองเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2101 เมืองเชียงใหม่และเชียงแสนก็เสียให้แก่บุเรงนอง เจ้ากรุงหงสาวดี อาณาจักรล้านนา (รวมทั้งเชียงรายและเชียงแสนด้วย) จึงได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าตั้งแต่นั้นมา แต่มีบางครั้งก็เป็นอิสระและบางครั้งก็ตกอยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา รวมเป็นระยะเวลาอันยาวนานนับ 200 ปี จนถึงสมัยธนบุรี แม้ว่าบางสมัยจะมีการจับอาวุธขึ้นต่อสู้เพื่อเป็นอิสระจากพม่าแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ในระยะหนึ่ง พม่าได้ฟื้นฟูเมืองเชียงแสนให้เป็นเมืองเอกในการปกครองเนื่องจากต้องการให้เป็นหัวเมืองเพื่อป้องกันการรุกรานจากกรุงศรีอยุธยา และยังสามารถใช้เป็นแหล่งสะสมเสบียงในยามศึกสงครามกับกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย

 

4. ยุคพันธุมติรัตนอาณาเขต
ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกทัพมาปราบปรามขับไล่ข้าศึกพม่าทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ แต่ไม่สำเร็จ
เด็ดขาด ครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งราชวงศ์จักรี พ.ศ. 2347 กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช ยกกองทัพขึ้นมาขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนได้สำเร็จ ให้เผาเมืองเสียสิ้น กวาดต้อนเอาผู้คนพลเมือง 23,000 ครอบครัว แบ่งเป็น 5 ส่วน โดยให้ไปอยู่เมืองเชียงใหม่ นครลำปาง นครน่าน
เมืองเวียงจันทน์ และลงมายังกรุงเทพฯ บางส่วนให้ตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองสระบุรี เมืองราชบุรี บ้าง

หลังจากที่ได้กวาดต้อนเอาผู้คนพลเมืองให้ไปอยู่ตามเมืองต่างๆ แล้ว เชียงแสนจึงกลายเป็นเมืองร้าง
จึงทำให้นับแต่นั้นมา หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองเชียงแสนได้ขาดหายไประยะหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วมักจะ
กล่าวถึงเมืองเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางของล้านนาในยุคนั้น โดยมีตระกูลเจ้าเจ็ดตนปกครอง ซึ่งจะเกี่ยวพันกับการทำศึกสงครามกับพม่า บางครั้งก็ถูกพม่ารุกราน บางครั้งก็ยกทัพไปตีเขตหัวเมืองขึ้นของพม่าและกวาดต้อนเอาผู้คนลงมาด้วย อันได้แก่ พวกไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยเขิน เป็นต้น

พ.ศ. 2386 ในรัชกาลที่ 3 ได้มีการจัดตั้งเมืองเชียงรายฟื้นคืนให้เป็นบ้านเมืองขึ้นมาใหม่
เพื่อเป็นกำลังช่วยเหลือเชียงใหม่ป้องกันภัยจากพม่า โดยมีฐานะเป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่ พระเจ้ามโหตรประเทศเจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ให้ญาติพี่น้อง อันมีเจ้าหลวงธรรมลังการเป็นเจ้าหลวงเมืองเชียงราย เจ้าอุ่นเรือนเป็นพระยาอุปราช เจ้าคำแสนเป็นพระยาราชวงศ์ เจ้าชายสาม เจ้าพูเกี๋ยง เป็นพระยาราชบุตร และพระยาบุรีรัตน์ มีราษฎร
ที่ถูกกวาดต้อนมากจากหัวเมืองขึ้นของพม่า ในสมัย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” พร้อมด้วยพ่อค้าที่เป็นคนพื้นเมืองของไพร่เมือง 4 เมือง คือ เมืองเชียงตุง เมืองพยาก เมืองเลน และเมืองสาด ประมาณ 1,000 ครอบครัว ขึ้นมาตั้งสร้างบ้านเมือง เมืองเชียงรายในยุคนี้ได้มีการก่อกำแพงสร้างประตูเมืองต่างๆ เพิ่มเติมในส่วนที่เคยเป็นเมืองเก่า
มาแต่สมัยพญามังรายให้เป็นเมือง “พันธุมติรัตนอาณาเขต” มีสะดือเมืองอยู่ที่วัดจันทโลก (ปัจจุบันคือ วัดกลางเวียง) ในสมัยนั้นเมืองเชียงใหม่มีชื่อว่า เมืองรัตตนติงสาวภิวนบุรี

การปกครองเมืองเชียงรายในฐานะเป็นเมืองบริวารของเมืองเชียงใหม่ในสมัยนี้เป็นยุคที่เรียกว่า เจ้าขัน 5 ใบ ซึ่งเป็นเชื้อสายในตระกูลเจ้าเจ็ดตนที่ได้รับการแต่งตั้งจากเมืองเชียงใหม่มาเป็นคณะปกครองเมืองเชียงราย ประกอบด้วยเจ้าหลวง (มีฐานะเป็นเจ้าเมือง) และผู้ช่วยอีก 4 ตำแหน่ง คือ พระยาอุปราช พระยาราชวงศ์ พระยาราชบุตร พระยาบุรีรัตน์
พ.ศ. 2413 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ นครเชียงใหม่ มีใบบอกข้อราชการไปยังกรุงเทพฯ ว่า พม่า ลื้อ เขิน เมืองเชียงตุง ประมาณ 300 ครอบครัว มาอยู่เมืองเชียงแสน ตั้งตัวเป็นอิสระ
ไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของไทย จึงให้อุปราชแต่งคนไปว่ากล่าวให้ถอยออกจากราชอาณาจักร ถ้าอยากจะตั้งอยู่ให้อยู่ในบังคับบัญชาเมืองเชียงรายและนครเชียงใหม่ แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะพวกนั้นไม่ยอมออกไป พ.ศ. 2417 เจ้าอินทวิไชยยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่เกณฑ์กำลังจากเชียงใหม่ นครลำปาง เมืองลำพูน มีไพร่ทั้งสิ้น 4,500 คน ยกจากเชียงใหม่มาเชียงรายและเชียงแสนไล่ต้อนพวกนั้นออกจากเชียงแสน จึงทำให้เชียงแสนกลายเป็นเมืองร้างไประยะหนึ่ง จวบจนถึงปี พ.ศ. 2423 จึงได้ให้ เจ้าอินต๊ะ บุตรเจ้าบุญมา (เจ้าบุญมาเป็นน้องของเจ้ากาวิละ เจ้านครเชียงใหม่) เจ้าผู้ครองเมืองลำพูนเป็นหัวหน้า นำราษฎรเมืองลำพูน เชียงใหม่ ประมาณ 1,500 ครอบครัว ขึ้นมาตั้งรกราก “ปักซั้งตั้งถิ่น” อยู่เมืองเชียงแสน นับเป็นการ สร้างบ้านแปงเมือง ครั้งใหญ่ของเมืองเชียงแสน กลุ่มที่อพยพมารุ่นแรกได้มาตั้งถิ่นฐานทำกินอยู่เรียงรายตามลำแม่น้ำแม่คำ ตั้งแต่บ้านแม่คำ บ้านห้วยน้ำราก จึงถึงเขตเชียงแสน ตลอดถึงบ้านกว๊านบุญเรือง ในเขตประเทศลาวปัจจุบัน
ต่อมา เจ้าอินต๊ะ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เป็นพระยาราชเดชดำรง ตำแหน่ง เจ้าเมืองเชียงแสน สมัยนั้นการปกครองล้านนาเฉพาะมณฑลพายัพเหนือ มีเจ้าเมืองบริวารหัวเมือง มี 5 ชื่อ ประจำเมืองต่างๆ คือ

พระยาประเทศอุตรทิศ เจ้าเมืองพะเยา
พระยามหิทธิวงศา เจ้าเมืองฝาง
พระยารัตนเขตต์ เจ้าเมืองเชียงราย
พระยาราชเดชดำรง เจ้าเมืองเชียงแสน
พระยาจิตวงศ์วรยศรังษี เจ้าเมืองเชียงของ

ในปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ พระศรีสหเทพ
(เล็ง วิริยสิริ) จัดการปกครองมณฑลพายัพใหม่ เมืองใหญ่ มีเก๊าสนามหลวง เป็นศูนย์กลางจัดให้มีแคว่นแก่บ้าน
(กำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน) แต่ละแคว่นขึ้นกับเมือง เรียกผู้ปกครองเมืองว่า เจ้าเมือง เมืองขึ้นกับ บริเวณ เรียกผู้เป็นหัวหน้าว่า ข้าหลวงบริเวณ ข้าหลวงบริเวณขึ้นต่อเก๊าสนามหลวง โดยได้จัดทำขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ เรียกว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งมณฑลพายัพ ตั้งนครเชียงใหม่เป็นตัวมณฑล และเมืองเชียงแสนสมัยนั้นขึ้นต่อกระทรวงกลาโหม ต่อมา พ.ศ. 2453 ตรงกับ ร.ศ. 129 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย ยกเมืองเชียงราย เป็นเมืองจัตวารวมอยู่ในมณฑลพายัพ ดังต่อไปนี้

ประกาศยกเมืองเชียงรายเป็นหัวเมืองจัตวา รวมอยู่ในมณฑลพายัพ

มีพระราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วหน้ากันว่า แต่เดิมเมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สรวย อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงของ ได้จัดรวมเข้าเป็นจังหวัด เรียกว่า จังหวัดพายัพภาคเหนือ ต่อมาเมืองเหล่านี้มีความเจริญยิ่งขึ้น จนเป็นเหตุให้เห็นว่า
การจัดให้เป็นเมืองไม่พอแก่ราชการและความเจริญสมควรเลื่อนการปกครองขึ้นให้สมกับราชการและความเจริญ
ในท้องถิ่น จึงทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ ให้รวมเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองฝาง เวียงป่าเป้า เมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สรวย อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงของ ตั้งเป็นเมืองจัตวา เรียกว่า
เมืองเชียงราย อยู่ในมณฑลพายัพ และจัดแบ่งการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ คือ อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเมืองเชียงแสน อำเภอเมืองฝาง อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอเมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอแม่สรวย อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงของ เหมือนอย่างหัวเมืองชั้นในที่ขึ้นกับกรุงเทพฯ ทั้งปวง และพระทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระภักดีณรงค์ ซึ่งเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดพายัพภาคเหนือเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
รับราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไป

ตราประจำเมืองเป็นรูปหนุมาน (หอระมาน)

ดวงตราประจำเมืองพันธุมติรัตนอาณาเขต คือ เมืองเชียงรายในอดีต ที่แปลมาตรงกับตัวอักษรล้านนา (ตัวเมือง) ในดวงตรานั้น ส่วนอักษรไทยข้างล่างเขียนว่า เมืองพันธุมติอะณาเขรษ เป็นการสะกดผิด เนื่องจากการทำตราต่างๆ ในสมัยนั้นต้องส่งไปทำต่างประเทศที่ใกล้ที่สุด คือ ประเทศอินเดีย ชื่อเมืองพันธุมติรัตนอาณาเขต เลยต้องใช้อย่างนั้นมา แต่คนเชียงรายในสมัยนั้นอ่านภาษาไทย (กลาง) ไม่ออก
สภาพบ้านเมืองในยุคพันธุมติรัตนอาณาเขตนั้น ได้เกิดความยุ่งยากเกี่ยวกับกบฏเงี้ยว ซึ่งได้เกิดขึ้นตามหัวเมืองต่างๆ ในอาณาจักรล้านนา ซึ่งเป็นผลมาจากยุคการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตก ที่ได้เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนพม่าและลาว และต่อมาได้มีการยุยงสนับสนุนให้เงี้ยวก่อความไม่สงบขึ้นตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อจะขยายอิทธิพลเข้ามายังล้านนา ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยแล้ว แต่ทางการก็สามารถปราบปรามลงได้
ยุคพันธุมติรัตนอาณาเขต ได้มีการพัฒนารูปแบบการปกครองจากหัวเมืองที่มีเจ้าเมืองครองมาจนถึง พ.ศ. 2453 (ร.ศ. 129) จึงได้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล อันเป็นต้นแบบมาสู่การปรับปรุงพัฒนามาสู่ในยุคปัจจุบันที่มีฐานะเป็นจังหวัด แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 อำเภอ
2 กิ่งอำเภอ

ความสัมพันธ์กับอาณาจักรต่าง
นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ลวจังกราช ได้ให้พระโอรสไปสร้างและครองเมืองต่างๆ จึงทำให้มีการกระจายเชื้อพระวงศ์ออกไปยังเมืองต่างๆ ด้วย อันเป็นการขยายอาณาเขตในลักษณะหนึ่งมาจนถึงสมัยพญามังราย จึงได้มีการรวบรวมหัวเมืองต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยมีเมืองหิรัญนครเงินยางเป็นศูนย์กลาง เมื่อมีความเป็นปึกแผ่นแล้ว ต่อมาจึงได้ขยายลงมาสร้างเมืองเชียงราย เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการแผ่ขยายอาณาเขตต่อไปยังอาณาจักรอื่นๆ รวมทั้งการมีสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรใกล้เคียงอาณาจักรต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่

อาณาจักรหริภุญไชย
อาณาจักรหริภุญไชย ได้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนสมัยการสร้างเมืองเชียงราย โดยเป็นศูนย์กลางของเมืองต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง ซึ่งตำนานจามเทวีได้กล่าวว่า ฤาษีวาสุเทพเป็นผู้สร้างเมืองหริภุญไชยขึ้น เมื่อราว พ.ศ. 1310-1311 หลังจากที่ได้สร้างเสร็จแล้ว จึงได้ทูลเชิญพระนางจามเทวีธิดาของกษัตริย์เมืองละโว้ (ลพบุรี) มาครองเมือง จึงทำให้วัฒนธรรมของละโว้แพร่ขยายมายังอาณาจักรหริภุญไชยด้วย
ด้วยเหตุอาณาจักรหริภุญไชย มีความเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งสมบูรณ์ พญามังรายมีพระประสงค์อยากได้ไว้ในอำนาจ จึงได้ใช้กลอุบายให้อ้ายฟ้าเข้าไปเป็นไส้ศึก วางแผนให้เกิดความแตกแยกกันในอาณาจักร
ในภายหลัง กองทัพของพญามังรายจึงเข้ายึดอาณาจักรหริภุญไชยจากพระยายีบา กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรหริภุญไชยไว้ในอำนาจได้สำเร็จ ในปี พ.ศ. 1835 และได้ผนวกหริภุญไชยเข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อาณาจักรสุโขทัย
หลังจากที่พญามังรายได้แผ่ขยายอาณาเขตและรวบรวมบ้านเมืองจนเป็นปึกแผ่นมั่นคงจนเป็นที่มาของอาณาจักรล้านนาแล้ว จึงได้สร้างเมืองเชียงใหม่ หรือนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ขึ้นใน พ.ศ. 1839 เพื่อเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา ในการสร้างเมืองนั้น พระองค์ทรงได้ทูลเชิญพ่อขุนรามคำแหงจากกรุงสุโขทัยและพญางำเมืองเจ้าเมืองพะเยาซึ่งเป็นพระสหาย ได้เสด็จมาช่วยเลือกชัยภูมิการสร้างเมือง จึงเห็นได้ว่าอาณาจักรเหล่านี้มีสัมพันธไมตรีต่อกันอย่างแนบแน่น ในตำราราชวงศ์ปกรณ์กล่าวว่า กษัตริย์ทั้งสามได้ตั้งสัจจะปฏิญาณต่อกันโดยนั่งหลังพิงกันที่ฝั่งแม่น้ำขุนภู แล้วเอามีดมาแทงมือกันทุกคน เอาเลือดใส่แพ่งฝาสู่กันกิน ให้เป็นมิตรสนิท
ต่อกันทุกพระองค์ ต่อมาแม่น้ำขุนภู จึงเรียกว่าแม่น้ำอิง ในปัจจุบันนี้ได้มีอนุสรณ์สถานคือ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ประดิษฐานอยู่ที่หน้าศาลากลาง (เก่า) จังหวัดเชียงใหม่

อาณาจักรล้านนา
สมัยหิรัญนครเงินยาง อาณาจักรล้านนามีความเป็นมาหลังจากที่พญามังรายได้รวบรวมหัวเมืองต่างๆ อันมีเจ้าเมืองที่มีเชื้อสายมาจากวงศ์ลวจังกราชด้วยกันจนเป็นปึกแผ่นในอาณาจักรหิรัญนครเงินยาง ต่อมาได้ตีอาณาจักรหิรภุญไชยแล้วผนวกเข้าไว้ในอาณาจักรด้วยนับเป็นการเริ่มต้นของอาณาจักรไปอยู่ที่เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ทำให้เมืองเชียงรายซึ่งเดิมนั้นเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรหิรัญนครเงินยางได้ลดความสำคัญลงไปในระยะหลังๆ
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า เมืองเชียงรายเป็นเมืองแห่งจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดเป็นอาณาจักรล้านนา ดังมีคำกล่าวว่า ถ้าไม่มีเชียงราย คงไม่มีเชียงใหม่ ในปัจจุบัน

สมัยรัตนโกสินทร์
อาณาจักรล้านนาได้มีบทบาทสำคัญในการทำสงครามกับพม่า โดยได้นำกำลังร่วมกับกองทัพทางกรุงเทพฯ ทำสงครามกับพม่าในระหว่าง พ.ศ. 2312 – 2347 สงครามในระยะดังกล่าวนี้
ได้เกิดลัทธิ เก็บผ้าใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ได้กวาดต้อนเอาผู้คนจากเมืองเชียงตุง สิบสองปันนา ฯลฯ ผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาเหล่านั้นส่วนใหญ่ ได้แก่ ชาวไทยใหญ่ ชาวไทยลื้อ และชาวไทยเขิน ซึ่งมีวัฒนธรรมประเพณี
ที่คล้ายคลึงกับชาวไทยโยนกของอาณาจักรล้านนา แล้วมาไว้ตามหัวเมืองต่างๆ ในอาณาจักรล้านนา กลุ่มที่ถูกกวาดต้อนมานั้นได้เอาศิลปวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ด้วย เช่น การทำเครื่องเขิน แกงฮังเล น้ำพริกอ่องของ
ชาวไทยเขิน ขนมจีนน้ำเงี้ยวของชาวไทยใหญ่ การทอผ้าของชาวไทยลื้อ เป็นต้น
ในปัจจุบัน กลุ่มชาวไทยลื้อหรือชาวไทยเขิน มีถิ่นฐานกระจายอยู่ในหลายอำเภอของจังหวัดเชียงราย และจังหวัดในภาคเหนือ และได้ถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ไว้อย่างมาก เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย อาหารการกินและงานหัตถกรรม
 

ข้อมูลเพิ่มเติม
กำแพงเมืองเชียงราย
กำแพงเมืองเชียงแสน


 
 

เกี่ยวกับเรา
เกี่ยวกับเชียงรายโฟกัส
กิจกรรมของเว็บ
เงื่อนไขการให้บริการ
ติดต่อทีมงาน
ช่วยเหลือ
แจ้งปัญหาการใช้งาน/อัพเดทข้อมูล
คำถามที่พบบ่อย
คำแนะนำการใช้งานเว็บไซต์
รวมทุกหัวข้อบนเว็บไซต์ (Site Map)
ข้อมูลเพิ่มเติม
สถิติ โดยรวมของเว็บ
 
เว็บไซต์ V.2010 , V.2012 , V.2018 , V.2020
ติดต่อโฆษณา


สงวนลิขสิทธิ์ © 2007-2021 https://www.chiangraifocus.com